เพจหมอเผย มีเคสผู้ป่วยกิน “ไอติมไข่แข็ง” จนติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella แนะเลี่ยงรับประทานไข่ดิบ

93

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 65 เพจ “Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ” ได้ออกมาโพสต์เคสผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีการรับประทาน “ไอติมไข่แข็ง” เข้าไป ว่า

คนไข้คนหนึ่งมาโรงพยาบาลด้วย ไข้สูง ปวดเกร็งท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวหลายสิบครั้ง ฉีดยาแก้ปวดท้อง อาการไม่ทุเลา ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบลำไส้อักเสบและบวมมาก ต้องได้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด สรุปตรวจเจอเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Salmonella ลองถามประวัติคนไข้ย้อนหลังว่ามีไปทานอะไรมาบ้างในช่วงนี้ คนไข้บอกว่าทานไอติมไข่แข็ง (ไข่แดงดิบๆ) คนที่ไปทานด้วยกันก็มีอาการคล้ายกัน และต้องนอนที่โรงพยาบาลเหมือนกัน

ไอติมไข่แข็ง หลายคนอาจจะเคยทาน เป็นเมนูฮิตอย่างหนึ่ง มีมานานแล้ว ใช้ไข่แดงตอกลงไปในไอติม ทิ้งไว้จนไข่แดงแข็งอยู่ในเนื้อไอติม มีรสชาติมันๆ นัวๆ เข้มข้น บ้างร้านเมนูนี้ถือเป็นเมนู signature ของร้านเลยด้วยซ้ำ

การทานไข่ดิบ มีความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella ได้ บางคนอาจจะสงสัยว่าที่ญี่ปุ่น คนเค้าก็นิยมทานไข่ดิบกัน แต่ทำไมไม่ค่อยติดเชื้อมากนัก กระบวนการทำฟาร์มไข่ไก่ของเค้า มีการควบคุมมาตรฐานความสะอาดอย่างดี ในบ้านเราการทานไข่ที่ไม่ได้มาจากฟาร์มไข่ไก่ที่ควบคุมคุณภาพ และทานดิบๆ โดยไม่ผ่านความร้อน อาจเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อได้ ถ้าบางคนทานยาลดกรดอยู่ด้วย ทำให้กระเพาะไม่มีกรดมาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่กินลงไป ยิ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น

หลังทานเชื้อตัวนี้เข้าไป ส่วนใหญ่จะมีอาการภายใน 6 ชม. ถึง 3 วัน และมักจะมีอาการนาน 4-7 วัน บางคนมีอาการรุนแรง เชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อน และในอาหารที่ไม่ได้แช่ตู้เย็น เชื้อตัวนี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มีการคาดการณ์ว่าในหนึ่งปีมีผู้ติดเชื้อ Salmonella ประมาณ 94 ล้านคนทั่วโลก ถือเป็นเชื้อที่พบบ่อยอันดับต้นๆ ที่ทำให้ท้องเสียถ่ายเหลว
เราป้องกันยังไงได้บ้าง ?
– หลีกเลี่ยงทานไข่ดิบ แต่ถ้าชอบทานจริงๆ พยายามเลือกทานไข่ที่มาจากแหล่งที่ได้มาตรฐานและร้านที่สะอาด
– ล้างมือบ่อยๆ
– อย่าเผลอเอามือจับปากเป็นนิสัย เชื้ออาจปนเปื้อนเข้าปากได้ง่าย
– อย่าทิ้งอาหารไว้นอกตู้เย็นเป็นเวลานาน
– แยกอาหารดิบและอาหารสุกไว้คนละที่ ป้องกันการปนเปื้อน
– ล้างมือหลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง
– หลีกเลี่ยงการทานยาลดกรดโดยไม่จำเป็น ยาลดกรดมีผลให้กรดในกระเพาะลดน้อยลง ทำให้กระเพาะไม่มีกรดในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย