เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 65 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงทรงตัว และมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้ทำการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคโควิด 19 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษา สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการสำรวจเปรียบเทียบในช่วงวันที่ 5 – 31 มีนาคม 2565 จำนวน 113,847 คน และช่วงวันที่ 1 – 20 กรกฎาคม 2565 จำนวน 28,487 คน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทำการเปรียบเทียบการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล
ผลการสำรวจพบพฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด 19 ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้น คือ พฤติกรรมไม่เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 – 2 เมตร มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม 4.27 % นอกจากนี้ยังได้ทำการสำรวจความตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล พบประเด็นที่ประชาชนตระหนักลดลงเสี่ยงโควิด 19 คือ คิดว่าการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ความตระหนักลด 11.06 %
จากผลการสำรวจสะท้อนคนไทยมีการพบปะใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยมาตรการที่มีการผ่อนคลาย ทำให้การระมัดระวังตัวในการเว้นระยะห่างลดลง และมีมาตรการในการผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัดเช่นเดิม
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงทรงตัว และปัจจุบันมีมาตรการผ่อนคลายที่ทำให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ โควิด 19 จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนด้วยการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 ได้ เป็นวิถีใหม่ โดยเน้นมาตรการ VUCA คือ Vaccine ฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด Universal Prevention ป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล COVID Free Setting มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง และมาตรการ DMHTTA อยู่ห่าง สวมแมสก์ ล้างมือ วัดอุณหภูมิ ตรวจเชื้อ ใช้แอปพลิเคชันคัดกรองโควิด 19 อย่างเคร่งครัด