รู้จักสัตว์ป่าคุ้มครอง วงศ์(ตระกูล) “เหี้ย” ในไทย “ตะกวด ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง เหี้ย”
เหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถพบเห็นได้ตามริมตลิ่ง แม่น้ำ ลำคลอง หรือบึง พวกมันสามารถว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้ดี บางชนิดสามารถดำน้ำได้นานถึงครึ่งชั่วโมง เหี้ยจะออกหากินในช่วงเวลากลางวัน อาหารหลัก ๆ ได้แก่ สัตว์ปีก หนู ปลา และซากสัตว์ เป็นต้น
ถึงมันจะเป็น เหี้ย แต่ใช่ว่าพวกมันจะไม่ถูกคุกคามจากมนุษย์ผู้ที่ใช้พิธีกรรมและความเชื่อ มาเป็นข้ออ้างในการกระทำผิด นอกจากนี้พวกมันยังถูกล่ามาเป็นอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในประเทศไทย มีวงศ์เหี้ยอยู่ 4 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ตะกวด ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง และเหี้ย
ตะกวด (Varanus bengalensis nebulosus หรือ Varanus nebulosus) หรือบางพื้นที่เรียกว่า แลน ลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม บนตัวมีลายจุดสีเหลืองจางกระจายทั่วไปทั้งลำตัวและขาด้านบน ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินบนพื้นดิน ตะกวดเป็นสัตว์ป่าที่นับว่าถูกล่า และถูกคุกคาม จากมนุษย์มากที่สุดจนบางพื้นที่แถบไม่เหลือให้พบเจอ ส่วนใหญ่จะพบว่าคนชอบนำตะกวดหรือแลน มาประกอบเป็นอาหารโดยไม่ทราบว่ามันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii) มีลักษณะอ้วน ป้อม เกล็ดเป็นสันแข็งขนาดใหญ่โดยเฉพาะตรงคอ ตอนเด็กตรงหัวและคอจะเป็นสีส้ม มีแถบสีดำลากตัดบริเวณหางตา ตอนโตจากสีส้มจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ใต้คอมีสีขาว ผิวหนังลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาล พบได้ตามภาคใต้และภาคตะวันตกในไทย มีนิสัยรักสงบ และเชื่องช้า
เห่าช้าง (Varanus rudicollis) มีขนาดเล็กกว่าเหี้ย ผิวสีดำเข้ม มีลายขวางจาง ๆ ที่ลำตัว เกล็ดบนคอมีลักษณะเป็นแหลม ๆ คล้ายหนามทุเรียน เห่าช้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัว มีความว่องไว และดุร้ายกว่าเหี้ยชนิดอื่นเมื่อเจอศัตรูจะขู่เสียงฟ่อ ๆ เหมือนงูเห่าแต่ไม่ได้เป็นสัตว์มีพิษ
เหี้ย (Varanus salvator) หรือบางคนเรียกว่า ตัวเงินตัวทอง ในตระกูลนี้พวกมันถือว่ามีขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดและพบเจอได้ง่ายที่สุดโดยจะชอบอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน เป็นต้น ลำตัวของมันจะอ้วนยาว ขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วมีกงเล็บแหลมคม หางช่วยในการทรงตัวตอนวิ่งและว่ายน้ำ ผิวหนังหยาบมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย นิสัยรักสันโดษ ปีนต้นไม้ และว่ายน้ำเก่ง จะดุร้ายเมื่อเจอคุกคามจากศัตรู
สัตว์ตระกูลเหี้ยที่กล่าวมา 4 ชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ถูกกำหนดตามกฎกระทรวง ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ