ด่วน! เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มี 3 จังหวัดได้สูงสุด 354 บาท ส่วนเชียงใหม่ได้ที่ 340 บาท มีผล 1 ต.ค. 65

780

ด่วน! เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มี 3 จังหวัดได้สูงสุด 354 บาท ส่วนเชียงใหม่ได้ที่ 340 บาท มีผล 1 ต.ค. 65

วันที่ 26 ส.ค. 65 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ครั้งที่ 8/2565 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2565 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่

1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5) ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

6) ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

7) ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยาสุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

8) ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

9) ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในครั้งนี้มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็น 5.02 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 แล้ว คณะกรรมการค่าจ้างได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลมีการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป