รัฐบาลเตรียมผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ระยะ 5 ปี 2566-70 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป

48

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่แปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี ข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2566-2570 ขณะนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่13 ได้ผ่านการรับทราบของรัฐสภาแล้ว โดยที่ประชุมวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 และ 25 ส.ค. 65 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65 ได้รับทราบร่างแผนพัฒนาฯ ที่ได้มีการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งไม่ได้แก้ไขในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่รัฐสภาได้รับทราบไปแล้ว เช่น การปรับปรุงเนื้อความให้มีความถูกต้อง การจัดเรียงลำดับของเนื้อหาของแผนฯ การปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายย่อย และสถานการณ์ให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกันระหว่างหมุดหมาย และสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ซาติ เป็นต้น

“หลังจากนี้จะเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ นายกรัฐมนตรีนำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่13 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศให้ใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เริ่มมีผลบังคับ จะเป็นแผนระดับชาติที่รัฐบาลยึดเป็นกรอบการผลักดันการพัฒนาประเทศในระยะ 5ปี ข้างหน้า มีเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่
1) ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
2) พัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่
3) มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม
4) เปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน
5) เสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

มีตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 บาท จากปี 2564 ที่ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท, ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 จากปี 2563 อยู่ที่ 0.6501

นอกจากนี้ ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า จากปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า, ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100