รอง ผบ.ตร. สั่งกำชับตำรวจจราจร เร่งกวดขันรถนักเรียน ย้ำต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย

165

รอง ผบ.ตร. สั่งกำชับตำรวจจราจร เร่งกวดขันรถนักเรียน ย้ำต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก

วันนี้ (31 ส.ค.65) เวลา 13.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศบจร.ตร.) เปิดเผยว่า จากกรณี ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี ลืม ด.ญ.เขมนิจ ทองอยู่ หรือน้องจีฮุน อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2/2 ไว้ในรถตู้โรงเรียน จนเป็นเหตุให้น้องเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 ส.ค.65 เวลาประมาณ 17.00 น. ที่ผ่านมานั้น

เรื่องนี้ได้สั่งการไปยัง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี และ ผกก.สภ.พานทอง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด เพราะเป็นคดีที่กระทบต่อความรู้สึกของผู้ปกครองทั่วประเทศ โดยเฉพาะพ่อแม่และญาติของผู้เสียชีวิต หากพบว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของครู ก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในข้อเท็จจริงพบว่า ในวันดังกล่าวช่วงเช้ารถโรงเรียนได้ไปรับนักเรียนตามปกติ ซึ่งจะมีเด็กประถม 5 คน และชั้นอนุบาล อีก 2 คนรวมเป็น 7 คน มีครู 1 คนทำหน้าที่เป็นพลขับ และมีครูดูแลเด็กอีก 1 คน ในส่วนของน้องจีฮุน นั่งอยู่เบาะแถว 3 ส่วนครูที่ดูแลนั่งอยู่แถวหลังสุด เมื่อรถตู้มาถึงโรงเรียน คุณครูที่ดูแลเด็กให้การว่าเดินลงจากรถก่อน จากนั้นได้ชะโงกเข้าไปดูเด็ก ไม่เห็นว่ามีใคร จึงได้ตะโกนบอกครูที่เป็นพลขับ เพื่อให้เลื่อนรถไปจอดในโรงรถ ต่อมาเวลา 16.30 น. หลังจากที่มานำรถเพื่อไปรับนักเรียนตามปกติ จึงได้พบว่า น้องจีนฮัน ได้เสียชีวิตแล้ว

เรื่องนี้ได้กำชับให้ตำรวจจราจร ทั้งในจังหวัดชลบุรี และทั่วประเทศเข้าไปประสานผู้บริหารโรงเรียนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพราะเหตุการณ์แบบเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยประสานความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง เช่น มาตรการเกี่ยวกับตัวรถ ต้องติดสติ๊กเกอร์คำว่า “รถโรงเรียน” ทั้งด้านข้างและด้านหลัง มองเห็นได้เด่นชัด ต้องไม่ติดฟิล์มมืด ไม่มีม่านกันแดด ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยในรถ หรือสอนให้เด็กรู้จักบีบแตรรถ หรือพกโทรศัพท์มือที่ใช้เฉพาะโทรเข้าออก รวมทั้งการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ให้เด็กนักเรียนรู้จักวิธีแก้ปัญหาเมื่อเจอสถานการณ์จริง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงรถประจำทางประเภทอื่น ที่เด็กนักเรียนใช้โดยสาร เช่น รถสองแถว หรือรถเมล์ จะต้องห้ามมิให้เด็กนักเรียนเกาะ ห้อยโหน หรือยื่นส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายออกไปนอกตัวถังรถโดยไม่สมควร หรือนั่งหรือยืนในหรือบนรถยนต์ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ในขณะที่รถเคลื่อนที่อยู่ในทางเดินรถ ซึ่งการฝ่าฝืนจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับรถโรงเรียนเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะช่วยในการกวดขันและตักเตือนเพื่อให้รถโรงเรียนปฏิบัติตามกฎจราจร และนโยบายของสถานศึกษาเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้อีก