ราชทัณฑ์ เดินหน้าดำเนินคดี ผู้กล่าวอ้างกรณีมีคุก VIP และการใช้โทรศัพท์ ภายในเรือนจำ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนภายนอก

107

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 65 เวลา 09.30 นาฬิกา นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณี ที่หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ “แฉ” ทางสถานีโทรทัศน์ GMM 25 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา ได้มีการกล่าวพาดพิงถึงกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับการควบคุมดูแลผู้ต้องขังคดี Forex-3D ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่สุขสบายและสามารถใช้โทรศัพท์ภายในเรือนจำได้ นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการควบคุมดูแล และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ซึ่งแนวทางและนโยบายของกรมราชทัณฑ์ในปัจจุบันยังคงถือระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งตามที่สังคมเข้าใจแต่อย่างใด รวมถึงการใช้เครื่องมือสื่อสาร กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า ไม่มีการให้ผู้ต้องขังคนใดมีเครื่องมือสื่อสาร หรือโทรศัพท์มือถือไว้ใช้ภายในเรือนจำอย่างแน่นอน โดยกรมราชทัณฑ์มีมาตรการเข้มงวดในเรื่องของการจู่โจมตรวจค้นอย่างจริงจัง รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้กระทำผิด อีกทั้งการกล่าวอ้างว่ามีผู้ต้องขังบางรายได้รับสิทธิพิเศษได้อยู่อย่างสุขสบายเหนือกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ๆ นั้น ขอเรียนว่า ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้าง หรือคำบอกเล่าที่ไม่เป็นความจริง

ส่วนในกรณีของพิงกี้ หรือ น.ส.สาวิกา ไชยเดช ที่ถูกควบคุมอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางนั้น ขณะนี้ได้ย้ายจากแดนกันชนมาสู่แดนแรกรับแล้ว โดย น.ส.สาวิกาฯ ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางทัณฑสถานฯ เช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่น ๆ และได้ดำเนินการตัดผมเรียบร้อยแล้ว ส่วนนายอภิรักษ์ โกฎธิ ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามปกติ และไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น ๆ รวมถึงไม่ได้มีเครื่องมือสื่อสารหรือโทรศัพท์ใช้ภายในเรือนจำแต่อย่างใด

นายอายุตม์ กล่าวปิดท้ายว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวพาดพิงและหมิ่นประมาทกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยมีการเผยแพร่เป็นแบบสาธารณะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับฟังข่าวสารเกิดความเข้าใจผิด และสงสัยในการทำงานของกรมราชทัณฑ์

อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป