ปี 64 คนไทย ฆ่าตัวตาย 5 พันชีวิต สสส.-สธ.-มสช. ดึง พลังชุมชนท้องถิ่น ร่วมเดินหน้าส่งเสริม-ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 ก.ย. หวังลดอัตราฆ่าตัวตายพุ่ง คาด 10 ปี สูญเสียแซงโรคไม่ติดต่อ
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่สามารถป้องกันได้ ไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกับจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่มีอยู่ไม่สมดุล สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” เร่งเสริมความพร้อมขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต นำร่องใน 10 พื้นที่ อาทิ 1.อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย 2.อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร 3.รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตมีปริมาณมากขึ้น และคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ในปี 2564 มีคนฆ่าตัวตายถึง 5,000 ราย สาเหตุของการฆ่าตัวตาย 1.ปัญหาด้านความสัมพันธ์ 50% 2.ปัญหาเรื่องสุขภาพ 30% 3.ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ อื่นๆ 20% ปัญหาที่มีแนวโน้มมากขึ้น แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มีไม่ถึง 200 คน จิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี