10 กันยายน 2565 วันปล่อยผี “สิบสองเป็ง” หรือประเพณีเดือน 12 ของชาวไทยล้านนา ประเพณีทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

7199

10 กันยายน 2565 วันปล่อยผี “สิบสองเป็ง” หรือประเพณีเดือน 12 ของชาวไทยล้านนา ประเพณีทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีสิบสองเป็ง ในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2565 เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงลับ ในวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ หรือเดือนสิบของภาคกลางโดยเฉพาะ เพราะเชื่อกันว่าในวันดังกล่าว พระยายมราชได้ปลดปล่อยวิญญานของผู้ตายให้กลับมาสู่โลกมนุษย์ เพื่อรับเอาส่วนกุศลผลบุญจากญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงมีการไปทำบุญที่วัดอย่างมากมายประเพณีดังกล่าว ตรงกับกิจกรรมของไทยภาคอื่น กล่าวคือภาคกลางมีประเพณีที่คล้ายกันเรียกว่า “ตรุษสารท” ภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีชิงเปรต” ส่วนภาคอีสานเรียกว่า “ประเพณีบุญข้าวประดับดิน” ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามความเชื่อในแนวคิดเดียวกัน

สิบสองเป็ง หรือประเพณีเดือนสิบสอง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ของชาวล้านนา เดือนสิบสองทางเหนือจะนับไวกว่าเดือนภาคกลางไปสองเดือน ดังนั้นประเพณีสิบสองเป็งจึงตรงกับเพ็ญเดือนสิบ หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในวันนี้ในหลายภูมิภาคมักมีประเพณีการทำบุญอุทิศหาผู้ตาย หรือที่รู้จักกันดีในงานสารทเดือนสิบ ประเพณีนี้แต่ละท้องถิ่นเรียกขานแตกต่างกันออกไป บางจังหวัดในภาคเหนือเรียกประเพณีอุทิศหาผู้ตายว่าประเพณีเดือนสิบสองบ้าง ประเพณีปล่อยผีปล่อยเปรตบ้าง ส่วนภาคกลางว่าตรุษสารท หรืองานบุญสารทเดือนสิบ ทางภาคอีสานเรียกประเพณีบุญข้าวสาก และภาคใต้เรียกว่าประเพณีชิงเปรต ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมายและจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุงป้า ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ที่แตกต่างกันคือวิธีการ จารีตประเพณีที่ปฏิบัติ และสืบทอดกันมาในแต่ละท้องถิ่นของตน การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น มีความเชื่อว่าญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษจะรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานญาติพี่น้องได้ทำบุญไปให้ สำหรับการอุทิศหาผู้ตายของชาวล้านนา มีประเพณีสืบต่อกันมาและถือกันว่าในเดือนสิบสองเหนือ ขึ้น 1 ค่ำ ถึงเดือนแรม 14 ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์ เพื่อขอรับเอาส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อจะได้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสูรกาย ดังนั้นการปฏิบัติต่อประเพณีของชาวล้านนาและชาวไทยพุทธด้วยการกตัญญู ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลกจึงได้ทำบุญและสืบทอดประเพณีนี้ต่อกันมากระทั่งปัจจุบัน