“หมอธีระ” เผย ลองโควิด นำไปสู่ภาวะเนื้อสมองฝ่อ และความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์นานขึ้นราว 30%

294

14 ก.ย. 65 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ประเด็นเกี่ยวกับอาการลองโควิด ระบุว่า ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคยุโรป ได้ออกประกาศเมื่อวานนี้ 13 กันยายน 2565

สาระสำคัญคือ ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 มีผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วประสบปัญหา Long COVID ใน 53 ประเทศ อย่างน้อย 17 ล้านคน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยที่จะมีอาการผิดปกติยาวนาน ทางองค์การอนามัยโลกได้เตือนให้แต่ละประเทศวางแผนรับมือปัญหา Long COVID อย่างจริงจัง และลงทุนทรัพยากรเพื่อทำการศึกษาวิจัย และจัดระบบบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพให้แก่ผู้ป่วยที่เป็น Long COVID

ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID หลังจากติดเชื้อนั้น จะมากขึ้นหากติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล, เพศหญิงพบเกิดภาวะ Long COVID ได้ราวหนึ่งในสาม และเพศชายพบได้ราวหนึ่งในห้า

ความรู้ทางการแพทย์จากงานวิจัยทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับ Long COVID มากขึ้น ทั้งในเรื่องกลไกที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุน ได้แก่ การตรวจพบเชื้อ และ/หรือชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงในเลือด, เซลล์ของระบบต่างๆ ของร่างกายถูกทำลายจากการติดเชื้อ, การพบสารบ่งชี้กระบวนการอักเสบต่อเนื่องในร่างกาย ตลอดจนการกระตุ้นเชื้อไวรัสอื่นที่มีการติดเชื้อแฝงอยู่ เช่น EBV และ VZV ผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติได้ในแทบทุกระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อในเซลล์สมอง นำไปสู่ภาวะเนื้อสมองฝ่อ (Cortical atrophy) และความเสื่อมถอยด้านความจำ (Cognitive decline) โดยพบว่าผู้ที่ประสบปัญหาทางสมองนั้น จะมีสมรรถนะการคิดเสื่อมถอยลง จะใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์นานขึ้นราว 30%

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า นอกจากนี้ปัญหาเรื่องหัวใจและหลอดเลือดก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าพบความเสี่ยงเพิ่มกว่าปกติยาวนานไปถึงอย่างน้อย 12 เดือนหลังติดเชื้อ และอาจนานกว่านั้น

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นก็พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน สูงขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก