26 ก.ย. 65 – แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยปีงบประมาณ 2566 มีรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องหาแนวทางการจัดเก็บรายได้เพิ่ม เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามปฏิรูปภาษี ปรับโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ และลดการขาดดุลงบประมาณ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้
ล่าสุดได้มีการหยิบยกประเด็นการจัดเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 2 อัตรา มาหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอัตราภาษีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งในหลายๆประเทศก็ใช้ลักษณะเดียวกัน โดยสินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค โดยจะไม่กระทบประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งจัดเก็บภาษีอัตราปกติ 7% ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย สุรา ยาสูบ เบียร์ สินค้าแบรนด์เนม ร้านอาหารราคาแพง จัดเก็บในอัตราที่สูงกว่า 7% คาดว่าจะสร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่า 100,000 ล้านบาท
สำหรับแนวคิดการจัดเก็บภาษีแวต 2 อัตรา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยศึกษาไว้นานแล้ว โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าที่จำเป็นในชีวิต ภาษีมูลค่าเพิ่มจะอยู่ที่อัตราเดิม 7 % แต่สินค้าบางชนิด ที่ไม่จำเป็นหรือจัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สุรา ยาสูบ ของแบรนด์เนม ร้านอาหารหรูราคาแพง จะเก็บในอัตราสูงกว่าปกติ ตามเพดานในกฎหมาย กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 10%
ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง เสนอปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และฝ่ายการเมืองไม่สนับสนุน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อประชาชน
“การปรับขึ้นภาษีทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้รัฐบาลต้องออกพ.ร.ก.เงินกู้ฉบับพิเศษ 2 ฉบับ รวมวงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบด ส่งผลให้รัฐบาลต้องขยายเพดานของการก่อหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% จากเดิมไม่เกิน 60% เพื่อรองรับการขยายตัวของภาระหนี้สาธารณะสูงขึ้น ซึ่ง ณ กรกฎาคมนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.75 %”