รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการปรังปรุงภูมิทัศน์เมืองเชียงใหม่ เตรียมพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว พร้อมเผยมาตรการแก้หมอกควันไฟป่าปีนี้ ขอทุกหน่วยดูแลและลดสาเหตุการเกิดหมอกควันไฟป่าตั้งแต่ต้นทาง
วันที่ 24 พ.ย. 65 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาเมือง และการจัดระเบียบสายไฟฟ้าสายสื่อสารในพื้นที่ถนนนิมมานเหมินทร์ หนึ่งในย่านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่ บริเวณถนนระแกง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบการจัดระเบียบสายไฟฟ้าสายสื่อสาร ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูล
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การปรับปรุงภูมิทัศน์ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีทาง กสทช. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ประกอบการ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันดูแลและพัฒนานั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ด้วยจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง แต่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก บางรายขาดรายได้ แต่ยังคงต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายอยู่ ซึ่งในช่วงนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลง และมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับเข้ามามากขึ้น ฉะนั้น จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึง จังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยว ก็จะต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมือง ทั้งการทำความสะอาด ตกแต่งเมือง และจัดระเบียบสายไฟฟ้าสายสื่อสาร ให้ดูสะอาดตา เพื่อพร้อมต้นรับนักท่องเที่ยวและสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหามอกควันไฟป่าในปีนี้นั้น พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ยังคงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ โดยขณะนี้ ได้สั่งการไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของการเกิดหมอกควันไฟป่า ทั้งการเผาในที่โล่ง การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการก่อสร้าง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จะต้องบูรณาการเข้าไปดูแลและลดสาเหตุการเกิดหมอกควันไฟป่าตั้งแต่ต้นทาง พร้อมสร้างความตระหนัก และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งหากเป็นพื้นที่ทำกิน ขอให้นำวัสดุทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแทนการเผา ส่วนในพื้นที่ป่า ขอเน้นย้ำว่า ไม่สามารถดำเนินการเผาได้ทุกกรณี เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุไฟป่าแล้วจะควบคุมได้ยาก และจะเกิดความสูญเสียในด้านต่างๆ ตามมาอย่างมหาศาล