กลุ่มทรู”ทรู” จ่อฟ้องกล่อง IPTV ละเมิดสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก

5801

กลุ่มทรู”ทรู” จ่อฟ้องกล่อง IPTV ละเมิดสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มทรู หนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก World Cup 2022 โดยสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 300 ล้าน เพื่อให้ได้สิทธิ์ที่จะได้ถ่ายทอดสดบนดิจิทัลทีวี ร่วมกับดิจิทัลทีวีรายอื่น และสิทธิพิเศษในการออกอากาศบนเคเบิล ดาวเทียม ไอพีทีวี บนมือถือ OTT และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อเสนอที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้กับผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นๆ ภายใต้ข้อเสนอเดียวกัน โดยกลุ่มทรู เป็นรายเดียวที่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมสนับสนุนเพื่อให้คนไทยได้รับชมทันช่วงเวลาการเปิดสนามแข่งขัน รวมทั้งเป็นการลงทุนเพื่อมอบเป็นสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มทรูที่เป็นแฟนบอล ให้สามารถรับชมผ่านช่องทางบริการต่างๆ ของกลุ่มทรู ทั้งทรูวิชั่นส์และทรูไอดี รวมทั้งผ่านมือถือที่ใช้ซิมทรูมูฟ เอช

ดังนั้น กลุ่มทรู ในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์จากการกีฬาแห่งประเทศไทย จึงยืนยันถึงสิทธิ์ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทยและกลุ่มทรูได้ทำข้อตกลงกันไว้ อันเป็นไปตามมาตรฐานของทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์
ทั้งนี้ การคำนึงถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ยังได้ถูกระบุอยู่ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (กฎ Must Carry) ของ กสทช. รวมทั้งแนวปฏิบัติตามกฎ Must Carry ที่ระบุว่า การให้บริการโทรทัศน์ตามกฎ Must Carry จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
ดร.ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันหาทางออกให้คนไทยได้รับชมฟุตบอลโลก 2022 ได้ทันเวลา ทรู ยินดีและพร้อมสนับสนุนงบประมาณ 300 ล้านบาท และลงทุนแม่ข่ายในการถ่ายทอดสดเพื่อคนไทย ได้มีเวลาแห่งความสุขในการรับชม World Cup 2022 และที่ผ่านมา กลุ่มทรู ยังพร้อมมอบสิทธิ์เปิดให้ช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ ได้ออกอากาศการแข่งขัน 16 แมตช์ของฟุตบอลโลก 2022 คู่ขนานกับช่องทรูโฟร์ยูในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เพื่อให้คนไทยได้มีความสุขกับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ ดังนั้น จึงอยากให้คนไทยทุกคนเข้าใจและช่วยกันดูแล ไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่อาจทำให้คนทั้งประเทศต้องเสี่ยงต่อการถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ระงับสิทธิ์ หากปล่อยให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย หาเอกชนมาลงทุนในคอนเทนต์ระดับโลกได้ยากมากขึ้นทุกปี เพราะยากต่อการคุ้มทุน และเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นความเข้มแข็งในการปฏิบัติตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในอนาคตจากทุกภาคส่วน หากเราแก้ให้ถูกต้องตั้งแต่วันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน”

“ในฐานะที่กลุ่มทรู เป็นผู้ประกอบการที่นำเข้าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ระดับโลก เราให้ความสำคัญและเคารพสิทธิ์ดังกล่าวมาโดยตลอด และหากมีผู้ประกอบการรายอื่นได้รับสิทธิ์คอนเทนต์ระดับโลก กลุ่มทรู ยืนยันได้ว่าไม่เคยกระทำการฝ่าฝืนหรือเรียกร้องใดๆ เพราะเรากังวลถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย ดังนั้น ในกรณีนี้ บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของผู้ได้รับสิทธิ์ที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งยังคุ้มครองสิทธิ์ของประเทศและประชาชนชาวไทยให้ได้รับชมคอนเทนต์ระดับโลกต่อไปในอนาคตอีกด้วย” ดร.ธีรเดช กล่าวสรุป