กรมควบคุมโรค เตือระวัง “โนโรไวรัส” หลังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ทำครู-นักเรียนที่ชัยภูมิท้องเสีย หามส่ง รพ. กว่า 315 ราย

958

กรมควบคุมโรค เตือระวัง “โนโรไวรัส” หลังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ทำครู-นักเรียนที่ชัยภูมิท้องเสีย หามส่ง รพ. กว่า 315 ราย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ พบนักเรียนชั้นอนุบาล ประถม และมัธยม รวม 4 แห่ง กว่า 315 คน ป่วยจากโรคติดต่อจากอาหารและน้ำเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ และได้ขยายการระบาดไปยังพื้นที่อำเภอใกล้เคียง ว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ออกสอบสวนโรค และได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ผลพบเชื้อก่อโรค คือ “ไวรัสโนโร” (Norovirus) เชื้อดังกล่าวก่อให้เกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหาร เป็นไวรัสที่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว แม้จะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย มักติดต่อจากการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารทะเล หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ไม่สะอาด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก และเชื้อยังแพร่กระจายผ่านการหายใจ จึงมักพบการระบาดของไวรัสชนิดนี้ได้บ่อยตามโรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก

จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบข้อมูลจากการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่ดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่าย โดยเฝ้าระวังในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันไม่จำกัดอายุ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่พบได้บ่อย ได้แก่ Rotavirus Norovirus Astrovirus Sapovirus และ Adenovirus จากผลการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยอุจจาระร่วงเฉียบพลันส่งตรวจ 81 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 53 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.43) เชื้อที่พบมากที่สุด ได้แก่ Norovirus GII (31.67) รองลงมา คือ Rotavirus (30) Astrovirus (21.67) Sapovirus (11.67) Adenovirus (3.33) และ Norovirus GI (1.67) ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบเชื้อได้มากกว่า 1 ชนิด

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อโนโรไวรัส มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ อาการที่พบจะคล้ายกับโรคอาหารเป็นพิษ คือ อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถพักรักษาตัวที่บ้าน และควรดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

สำหรับคำแนะนำการเกิดโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอาจทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย มักพบอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษได้บ่อย และใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนเชื้อโรคเหล่านี้มักเจริญเติบโตได้ดี จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเอง ด้วยหลักการ “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ-ดื่มน้ำสะอาด” ดังนี้ 1) ล้างมือก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง  2) ล้างวัตถุดิบที่ใช้ให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร  3) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ และควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน  4) ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 5) ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำที่มีบรรจุภัณฑ์ปิดฝามิดชิด 6) น้ำแข็งสำหรับรับประทาน ต้องเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422