ฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำ “นกตะขาบดง” หายใจไม่ทัน อ่อนแอวิงเวียนหน้ามืด ร่วงตกจากท้องฟ้า⁣ ตรวจพบปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง

829

ฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำ “นกตะขาบดง” หายใจไม่ทัน อ่อนแอวิงเวียนหน้ามืด ร่วงตกจากท้องฟ้า⁣ ตรวจพบปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง

วันที่ 9 มี.ค. 66 นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Save Gurney Pitta ระบุว่า วันนี้อากาศในกรุงเทพฯ แย่มาก ปกคลุมไปด้วย PM 2.5 เข้มข้น ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในเมือง

ยกตัวอย่างเช่น นกตะขาบดง Oriental Dollarbird ตัวเต็มวัยในภาพนี้ ซึ่งเป็นนกขนาดกลาง ลำตัวมีหลากสี สวยมาก ปกติเป็นนกที่พบตามป่า บางครั้งก็อพยพผ่านกรุงเทพ พบได้ในหลายพื้นที่ และน่าจะเป็นชนิดย่อย Eurystomus orientalis cyanicollis ที่พบทางภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้

UyLgYY.jpeg

นกตัวนี้ อ่อนแรงและตกลงมาหน้าบ้านหลังหนึ่ง บริเวณใกล้สวนลุมพินี กลางเมืองกรุงเทพเลย โชคดีที่มีคนใจดีนำมาพบสัตวแพทย์ จากถ่ายภาพทางรังสีวิทยาพบว่า “กระดูกหักตามร่างกายไม่หัก แต่ปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง” ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยนี้

นกตัวนี้น่าจะรู้สึกแสบตา แสบคอ หายใจไม่ถนัด สุดท้ายร่างกายแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ลดลง จนร่างกายอ่อนแรง วิงเวียน หน้ามืดแล้วก็ตกลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งอาการนี้ก็จะเกิดในคนเช่นเดียวกัน และนี่คือตัวชี้วัด “คุณภาพอากาศในเขตเมือง” ได้เป็นอย่างดี เพราะทุกอย่างมันจะเวียนกลับมาที่มนุษย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหานี้ แต่สรรพสัตว์ที่ตัวเล็กกว่า จะได้รับผลกระทบและแสดงอาการป่วยให้เห็นชัดเจนก่อน

ทั้งหมดนี้ก็อยากจะขอเตือนดัง ๆ ไปอีกที ให้ทุกคนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โปรดหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัว และช่วยกันแก้ไขเท่าที่ตนจะทำได้ให้มากที่สุด ขอร้องล่ะ เพราะธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนมาอย่างชัดเจนแล้ว!!!

เครดิตภาพ: น.ส.ณัฐรุรี คำชมภู นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ
เครดิตภาพ: น.ส.ณัฐรุรี คำชมภู นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ