ตร.ไซเบอร์ เตือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ล่าสุดแอบอ้างอดีต รอง ผบ.ตร. ข่มขู่ให้เหยื่อโอนเงิน

191

ตร.ไซเบอร์ เตือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ล่าสุดแอบอ้างอดีต รอง ผบ.ตร. ข่มขู่ให้เหยื่อโอนเงิน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอฝากเตือนภัยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นอดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

ในปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้สร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากสามารถเข้าถึงประชาชนได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าเป็นจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จากการส่งข้อความสั้น (SMS) รวมไปถึงผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน หลอกลวงเหยื่อโดยการใช้ความกลัว ความโลภ และความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ที่ผ่านมาพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้า แจ้งไปยังผู้เสียหายว่าบัญชีธนาคาร หรือพัสดุที่ส่งไปต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกอายัด เป็นหนี้บัตรเครดิต เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน มีหมายจับ หรือหลอกลวงว่าได้เช็คเงินคืนภาษี หรือหลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อฝังมัลแวร์ควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชี เป็นต้น

ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายว่าถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง สร้างความน่าเชื่อถือโดยการแจ้งชื่อนามสกุล และหมายเลขพนักงานให้ผู้เสียหายทราบ แล้วแจ้งผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เนื่องจากผู้เสียหายได้ใช้บัตรเครดิตธนาคารดังกล่าวที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จากนั้นได้โอนสายต่อไปยังมิจฉาชีพอีกรายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัด สภ.เมืองพิษณุโลก ให้ผู้เสียหายแอดไลน์บัญชีไลน์ตำรวจปลอม ข่มขู่ว่าผู้เสียหายว่าจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้โอนเงินที่มีในอยู่บัญชีมาให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมถึงมีการส่งเอกสาราชการปลอมให้ผู้เสียหายตรวจสอบ มีการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้เสียหายได้ยินเสียงว่ามิจฉาชีพอยู่ที่สถานีตำรวจจริง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพเตรียมไว้ ต่อมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ข่มขู่ผู้เสียหายอีกว่าจะต้องถูกดำเนินดดี และต้องถูกฝากขัง 90 วัน แต่ผู้กำกับการ สภ.เมืองพิษณุโลก สามารถช่วยเหลือไม่ให้ไม่ถูกดำเนินคดีได้ แนะนำให้แอดไลน์ไปพูดคุยขอความช่วยเหลือ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้แอดไลน์บัญชีตำรวจปลอมดังกล่าว ภายหลังทราบว่ารูปภาพโปรไฟล์ และชื่อบัญชีไลน์ดังกล่าว เป็นรูปและชื่อของอดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับรอง ผบ.ตร. ซึ่งในระหว่างที่พูดคุยกันนั้น มิจฉาชีพเพิ่มความน่าเชื่อถือโดยการไลน์วิดีโอคอลมายังผู้เสียหาย และทำการส่งภาพว่ากำลังตรวจสอบเงินที่ผู้เสียหายโอนมาให้ตรวจสอบ มิจฉาชีพข่มขู่เหยื่ออีกว่าต้องโอนเงินมาประกันตัว ให้รายงานตัวทุกๆ 2 ชม. อ้างว่ามีระบบติดตามตัว ห้ามหลบหนี ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงโอนเงินไปให้มิจฉาชีพได้รับความเสียหายจำนวนมาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชาผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน” หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ร่วมกันหาแนวทาง และวางมาตรการป้องกันในการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ต่างๆ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นโครงการไซเบอร์วัคซีน การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การแก้ไขการรับจ้างการเปิดบัญชีม้า การครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือ การอายัดบัญชีธนาคารให้ทันท่วงที การตรวจจับบัญชี หรือธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย และการยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมการเงินที่มีวงเงินสูง เป็นต้น

สิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักทำคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ใช้จิตวิทยา เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของเหยื่อ มีการเขียนบทสนทนาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนจริง เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตามหลงเชื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ IVR (Interactive Voice Response) หรือเทคโนโลยี Deepfake เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์หมายเลขที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเลขที่โทรมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะมีเครื่องหมาย+697 ให้ท่านตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก หลงเชื่อง่ายๆ และอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเลขบัตรต่างๆ รหัสใช้ครั้งเดียว หรือ One Time Password (OTP) กับผู้ใดโดยเด็ดขาด

พร้อมขอประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนี้

1.ไม่มีนโยบายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการระดับสูง ที่จะต้องโทรศัพท์ไปยังประชาชน เพื่อแสดงเอกสารราชการ กล่าวอ้างว่าท่านกระทำความผิด หรือมีส่วนในการกระทำความผิด หรือสามารถช่วยเหลือทางคดีได้ หากพบการกระทำดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน

2.ไม่ตกใจ ไม่เชื่อเรื่องราวต่างๆ วางสายการสนทนาดังกล่าว ตรวจสอบก่อนโดยการโทรศัพท์ไปสอบถามหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง

3.ไม่โอนเงิน หากมีคำพูดว่าให้โอนเงินมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม นั่นคือมิจฉาชีพแน่นอน

4.ไม่กดลิงก์ ติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน เพราะอาจจะเป็นการหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมเครื่องระยะไกล หรือโปรแกรมที่ฝังมัลแวร์ดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ

5.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินกับผู้ใดทั้งนั้น เช่น เลขบัตรประชาชน รหัสหลังบัตร รหัส OTP เป็นต้น

6.ท่านสามารถบล็อกสายเรียกเข้าที่มาจากต่างประเทศได้ ด้วยการกด *138*1# แล้วโทรออก

7.ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whos Call เพื่อแจ้งเตือนระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก ป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่อาจโทรศัพท์มาหลอกลวง

8.ดูแล แจ้งเตือน ผู้สูงอายุ บุคคลใกล้ตัว เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ