เชียงใหม่ คืบหน้าการแก้ปัญหารีสอร์ตและที่พักรุกพื้นที่ป่า ม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ จับกุมดำเนินคดีแล้ว 36 คดี

534

เชียงใหม่ คืบหน้าการแก้ปัญหารีสอร์ตและที่พักรุกพื้นที่ป่า ม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ จับกุมดำเนินคดีแล้ว 36 คดี

วันที่ 11 มี.ค. 66 ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินการของ เจ้าหน้าที่ สจป1 ชม.กรมป่าไม้ กรณีการควบคุมการสร้างที่พักและรีสอร์ตขนาดใหญ่เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่ม่อนแจ่ม .เชียงใหม่ โดยได้รับการชี้แจงจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ว่าจากที่ได้บูรณาการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม บริเวณศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มาตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ.2562 มาอย่างต่อเนื่อง

blank

จากการสำรวจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตร มาปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศหรือรีสอร์ต ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเก็บค่าเช่าห้องพักเป็นรายวัน จำนวน 122 ราย สำหรับในรายที่ตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุก บุกรุกเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงผู้ถือครอง (นอมินี) ได้จับกุมดำเนินคดีแล้ว จำนวน 36 คดี โดยผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 สั่งให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม อันเป็นกระบวนการทางปกครอง ซึ่งหากคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง หรือไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในกำหนด

blank

เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีกรณีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายทางปกครองกรณีนายบุญธรรม แซ่ห่าง ได้ฟ้องผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามศาลปกครองเชียงใหม่ ตามคดีดำที่ 446/2565 นั้น ปรากฏว่า ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ไม่รับคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลแจ้งว่า คำขอของผู้ฟ้องคดี ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประสงค์จะขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองใดและการใช้กฎหมายหรือคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

blank

โดยศาลพิจารณาแล้ว “ยังไม่มีเหตุ หรือพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากป่าสงวนแห่งชาติหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือถอนสิ่งปลูกสร้างหรือทำลายแกสิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริมตามคำสั่งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) 76/2565 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย” ประกอบกับ “หากพิจารณาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม จากการที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามาพักค้างคืน ในอาคารที่ก่อสร้างภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้วย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริมในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะซึ่งยากแก่การฟื้นฟูหรือแก้ไขในภายหลัง”

blank

กรณีนี้จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากป่าสงวนแห่งชาติหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือทำลายแก่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม ด้วย เหตุดังกล่าวคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจรับพิจารณาไว้ได้

ซึ่งกรณีตัวอย่างคดีนี้ เจ้าหน้าที่จะนำไปเป็นแนวทางในการควบคุม และปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน และเพื่อป้องกันชีวิตทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวม่อนแจ่มให้มีความปลอดภัยและรักษาไว้ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำต่อไป