(มีคลิป Video) อันตราย! รีบหนี อยู่กลางแจ้ง ผมตั้งชี้ฟ้า เสี่ยงถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต

2697

13 มี.ค. 66 – ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวต่างชาติ บัญชี @gnuman1979 ได้โพสต์คลิปกลุ่มนักท่องเที่ยวขณะอยู่บนเรือกลางทะเล ซึ่งกำลังยืนหัวเราะอย่างสนุกสนาน พร้อมพากันถ่ายคลิปบันทึกปรากฏการณ์สุดแปลกประหลาด ขณะที่ผมแต่ละคนตั้งชี้ขึ้นฟ้า โดยทวิตดังกล่าวระบุว่า “Run!!!! Danger danger! (วิ่ง!!! อันตราย อันตราย)”

หลังจากคลิปนี้ถูกเผนแพร่ออกไปก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในความอันตรายจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่บอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่ผมตั้งชี้ขึ้นฟ้า เพราะมีการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าที่เกิดจากการเสียดสีของละอองน้ำในก้อนเมฆ ทำให้เกิดประจุแตกตัวหรือเกิดไฟฟ้าสถิต และอาการเหล่านั้นหมายความว่า ประจุไฟฟ้ากำลังสะสมอยู่บนตัว ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดฟ้าผ่าขึ้น

ทั้งนี้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อ.เจษฎ์ เคยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ระบุว่า “ถูกต้องแล้วครับ หลักๆ คือ เวลาที่จะเกิดฟ้าผ่า อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของประจุไฟฟ้าบริเวณเหนือพื้นดิน และทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตแบบที่เรารู้สึกได้ เช่น ขนลุกชัน ผมตั้งชัน ได้ คำแนะนำคือ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่นหลบเข้าในอาคาร เข้าไปในรถยนต์ (แล้วห้ามแตะตัวถังที่เป็นโลหะ) หรือถ้าอยู่กลางที่โล่งแจ้ง ไม่มีที่หลบ ให้นั่งยองๆ ลงต่ำ แต่อย่าไปหลบใต้ต้นไม้หรืออยู่ในกระท่อมกลางนา ฟ้ามักจะผ่าลงมาที่จุดที่โดดเด่นบริเวณ (ปล . ส่วนเรื่องใส่โลหะ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ แล้วจะล่อฟ้า อันนี้ไม่จริงครับ)

ปล. 2 มีคนสงสัยว่า แทนที่จะนั่ง ถ้าใช้เป็นวิธีนอนราบกับพื้นไป จะได้มั้ยครับ ? คำตอบคือ ควรจะต้องพยายามสัมผัสพื้นให้น้อยที่สุด และให้เกิดจุดห่างระหว่างอวัยวะที่สัมผัสพื้น 2 จุดให้น้อยที่สุด คือตามสมมติฐานที่เชื่อกัน เวลาถูกฟ้าผ่าเนี่ย อันตรายที่ได้รับจริงๆ มักจะเป็นกระแสไฟที่วิ่งตามพื้นมาจากจุดที่ฟ้าผ่าลงมา ไหลเข้ามาที่ตัวเรา ทีนี้อันตรายจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย จะขึ้นกับ “แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (step voltage)” ซึ่งเป็นความต่างศักย์ที่ตกคร่อมระหว่างจุด 2 จุดของร่างกาย ถ้ายิ่งทั้งจุด 2 จุดนี้อยู่ห่างกันมากเท่าไร (เช่น เราก้าวเท้ายาว ยืนบนพื้น โดยที่เท้าทั้งสองแยกห่างจากกัน) โอกาสที่จะเกิดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว ก็จะมากตามไปด้วย ส่งผลให้กระแสที่ไหลมาตามพื้นเข้าสู่ตัวเรามากขึ้น ดังนั้น ถ้านั่งยองๆ เท้าชิด แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าวก็จะน้อยกว่าเวลานอนยาว (ซึ่งมีจุดสัมผัสพื้นห่างกันตั้งแต่หัวถึงเท้า)”