เมื่ออากาศรอบตัวมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยงต่างก็เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยด้วยกันทั้งนั้น และ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงแสนรักที่มักจะต้องเจอกับอากาศร้อนอยู่เสมอ ทำให้เสี่ยงต่ออาการฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดที่อาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงคืออะไร?
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง เป็นภาวะที่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงสูญเสียความสามารถในการระบายความร้อนที่สมดุลไป เมื่อร่างกายของสัตว์เลี้ยงไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบให้การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ เสียหาย เช่น ระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น ทั้งนี้อาการฮีทสโตรกเป็นอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ แต่ในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะน้องหมา นายแมว อาการฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและค่อนข้างรุนแรง โดยมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการนี้คือ อากาศร้อนมากและสัตว์เลี้ยงขาดน้ำดื่ม การอยู่ในที่แดดจัดหรือมีอากาศร้อนนานเกินไป หรือการอยู่ในพื้นที่อบอ้าวอากาศไม่ถ่ายเท เป็นต้น
วิธีสังเกตอาการของฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง
– สัตว์เลี้ยงมีอาการหอบ หายใจไม่ทัน อ้าปากหายใจรุนแรงกว่าปกติ
– ลิ้นและเหงือกมีสีแดงจัด แต่ถ้าอาการรุนแรงลิ้นและเหงือกอาจจะมีสีซีด
– อุณหภูมิในร่างสูง ซึ่งอุณหภูมิปกติจะอยู่ที่ 38-39 องศา
– อาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็ยเลือด
– อ่อนเพลีย ซึม
– น้ำลายไหลมาก ยืดเหนียว
– อาการเบลอ จำเจ้าของไม่ได้ หรือดุร้ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
– หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกอุ้งเท้า
– ช็อค หมดสติ
ทั้งนี้อาการจะร้ายแรงหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับขนาด สายพันธุ์ และอายุของสัตว์เลี้ยง แต่ทางที่ดี เจ้าของอย่างเราๆ ไม่ควรปประมาท เมื่อมีอาการ ควรรีบปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น ก่อนนำส่งสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ หรือคลินิกรักษาสัตว์ใกล้บ้านทันที อย่าปล่อยไว้นานเกินไป เพราะไม่อย่างนั้น อาจอันตรายถึงชีวิตสัตว์เลี้ยงได้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
– ย้ายสัตว์ป่วยออกจากสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศร้อน อาจนำไปหลบที่บริเวณที่มีร่มเงา หรือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
– ถอดเสื้อ ปลดสายรัดอก หรือสายรัดคอ ออกจากตัวสัตว์เลี้ยง ไม่ควรห่มผ้า และนำสัตว์ป่วยไปไว้ในกรงหรือกล่องทึบ
– ค่อยๆ ปรับอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยง เช่น เช็ดตัว หรือเอาน้ำลูบใต้ฝ่าเท้าให้สัตว์เลี้ยงเพื่อระบายความร้อน หรือนำน้ำเย็นใส่ขวดมาประคบบริเวณที่บริเวณ ขาหนีบ หรือใต้รักแร้ รวมถึงบนหัวสักพัก
-ไม่ควรใช้น้ำแข็ง หรือน้ำเย็นจัด หรือแช่สุนัขลงในน้ำเย็นทั้งตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ทำให้การระบายความร้อนลำบากมากกว่าเดิม
– ไม่ควรลดอุณหภูมิร่างกายสุนัขให้ลดลงต่ำกว่า 103 องศาฟาเรนไฮด์ หรือลด หรือเปลี่ยนอุณหภูมิในร่างกายในสัตว์เลี้ยงแบบกระทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน
– เมื่อสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ให้ค่อยๆ ให้กินน้ำเย็น แต่อย่าให้กินน้ำเย็นจัด เพื่อให้สุนัขค่อยๆ ได้ปรับลดอุณหภูมิในร่างกายต่อ แต่ก็ไม่ต้องฝืนบังคับให้สุนัขกินน้ำ
– รีบนำสัตว์เลี้ยงที่มีอาการฮีทสโตรกไปส่งที่โรงพยาบาลสัตว์ เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคลมแดดต่อไป ที่สำคัญระหว่างนำสุนัขไปส่งโรงพยาบาล อย่าลืมเปิดแอร์ในรถให้เย็นๆ ด้วยนะ
สำหรับหนทางการหลีกเลี่ยงการเกิดฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง ได้ดีที่สุด คือพยายามหลีกเลี่ยงให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในสถานที่ร้อนๆ ควรให้อยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่โดนแดดส่อง มีลมพัดผ่าน และอย่าลืมการดูแลน้ำดื่มสะอาดให้สัตว์เลี้ยงกินได้ตลอดเวลา
ที่สำคัญ หมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการข้างต้น หอบหายใจ น้ำลายไหลมาก ท่าทางซึม อ่อนแรง และมีอุณหภูมิสูง ควรรีบปฐมพยาบาล ระบายอุณหภูมิให้สัตว์เลี้ยงทันที
ที่มา : abbitcare