สธ. กำชับศูนย์ฉุกเฉิน EOC 8 จังหวัดภาคเหนือ เกาะติดสถานการณ์และปรับมาตรการรับมือตามค่าฝุ่น พร้อมเร่งจัดทำห้องปลอดฝุ่นเพิ่ม

144

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 66 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผ่านระบบทางไกลติดตามสถานการณ์และการดำเนินงาน กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 1 สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 1 ผู้แทนกรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา โดยข้อมูลล่าสุด สถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงมีค่าเกินมาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และเชียงใหม่ และคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะยังอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือนเมษายน และค่อยลดระดับลงจนเข้าสู่ภาวะปกติช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งจากการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ พบว่าผู้ป่วยจากการได้รับฝุ่น PM 2.5 ที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ระคายเคืองตา แสบจมูก คัดจมูก อาการทางผิวหนัง มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับผลกระทบจนอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยหอบหืด ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) และติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องทุกวัน พร้อมประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับมาตรการในการดูแลสุขภาพประชาชนให้ทันสถานการณ์ สื่อสารให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลตนเอง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งเร่งประสานการจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ในสถานบริการสาธารณสุข โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยให้ อสม.ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง หากจำเป็นให้เคลื่อนย้ายมาพักในห้องปลอดฝุ่น

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานในพื้นที่สำรวจความต้องการเวชภัณฑ์ ยา ที่จำเป็นสำหรับดูแลผู้ป่วย และหน่วยงานส่วนกลางจัดเตรียมเพิ่มเติมเพื่อให้การสนับสนุน ส่วนกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ให้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการดำเนินการตามประเด็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งออกคำแนะนำการจัดทำห้องปลอดฝุ่นที่ได้มาตรฐาน ให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งประชาชนได้นำไปดำเนินการเพื่อช่วยเพิ่มห้องปลอดฝุ่นให้เร็วขึ้นด้วย