เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ณ ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการออกแบบเมืองเชียงใหม่ โครงการ Chiang Mai Learning City สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ นำเสนอรายละเอียด ‘ร่างเอกสารข้อเสนอเมืองเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO’ ร่างแรก (First Draft) และแนวทางการเตรียมความพร้อมในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดำเนินการในปี 2566-2567 ภายใต้หลักคิดสำคัญ (Statement of Significance)
เมืองเชียงใหม่ “ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต”
โดยรูปธรรมและคุณลักษณะของการเป็นเมืองเรียนรู้ของเมืองเชียงใหม่จะนำเสนอผ่าน ต้นแบบ (Model) การเรียนรู้ที่ “เชื่อมโยงระหว่าง รัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชน” ด้วยต้นทุน “วัฒนธรรมชุมชน” งานประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญของเมือง ในรูปแบบ “Community-Cultural Based Demonstration Event (CCBD)” ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์โดยตรงระหว่างผู้มาเยือนและผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างนิเวศการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ที่ผู้เรียนและผู้ส่งต่อองค์ความรู้วัฒนธรรมโดยการสนับสนุนงบประมาณและพื้นที่อย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและชุมชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ระดับเมืองดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในกำลังที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่รอบนอก ก่อให้เกิดการยกระดับงานฝีมือท้องถิ่น ฟื้นฟู และส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา โดยมีประเพณี วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญแก่คนรุ่นใหม่
ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ หัวหน้าชุดโครงการ Chiang Mai Learning City ได้กล่าวนำเสนอในงานครั้งนี้ไว้ว่า “หลักคิดสำคัญ (Statement of Significance) “ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต” เกิดจากการทำงานร่วมกันของคณะวิจัย ชุมชน และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ในการประมวลและสังเคราะห์ผลงานการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผ่านมาย้อนหลัง 5 ปี โดยพิจารณาถึงความต่อเนื่องของนโยบาย และงบประมาณ การมีส่วนร่วมของชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงคุณลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันโดเด่นปรากฏชัดเจนในกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีของเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับการใช้เกณฑ์การประเมินเมืองแห่งการการเรียนรู้ของ UNESCO – จนนำมาถึงข้อสรุปหลักคิดสำคัญ และแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566-2567 เพื่อให้ผลลัพธ์เชิงรูปธรรมเกิดเป็นประจักษ์พยานถึงความพร้อมของเมืองเชียงใหม่ ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และมีความพร้อมในการได้รับพิจารณาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO”
ในงานครั้งนี้คณะวิจัยได้ส่งมอบร่างเอกสารข้อเสนอเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO แก่นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนำเสนอข้อเสนอแนะ รวมถึงแนวทางการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ก่อนการยื่นเอกสารข้อเสนอเพื่อขอรับการพิจารณา UNESCO Learning City Award แก่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO) สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการพิจารณาและนำส่งเอกสารสู่คณะกรรมระดับนานาชาติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ต่อไป