นายกฯ สั่งแก้ตั๋วเครื่องบินแพง หลังกระแสโซเชียลเดือดบิน กทม.-ภูเก็ต ราคาแพงกว่าไปต่างประเทศ 2 เท่า

194

นายกฯ สั่งแก้ตั๋วเครื่องบินแพง หลังกระแสโซเชียลเดือดบิน กทม.-ภูเก็ต ราคาแพงกว่าไปต่างประเทศ 2 เท่า

วันที่ 7 เมษายน 2566 สืบเนื่องจากกรณีที่มีสมาชิกกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” ออกมาโพสต์ภาพราคาบัตรโดยสารสายการบินภายในประเทศไทย จาก กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – ตรัง ซึ่งมีราคาสูงถึง 7,595 บาท ขณะที่เส้นทางบินจาก กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – สิงคโปร์ ในวันเดียวกัน ราคา 4,200 บาท ซึ่งในโพสต์ได้ระบุข้อความว่า “เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศได้ยังไง ถ้าตั๋วในประเทศแพงกว่าต่างประเทศเป็นเท่าตัวครับ ผมเปรียบเทียบจองวันเดียวซื้อวันเดียวระหว่าง ไปตรัง แพงกว่าไปสิงคโปร์ 2 เท่าตัวครับ สงสัยเฉยๆ ทำไมสายการบินถึงคิดแพงจากฐานข้อมูลซื้อวันเดียวกันซื้อพร้อมกัน คนละประเด็นกับซื้อล่วงหน้า ไม่ว่าจะวันไหน”
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สรุปกรณีราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นพร้อมทั้งแนวทางในการแก้ไขต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้เร่งดำเนินการเพื่อลดปัญหาจากช่องว่างระหว่างปริมาณความต้องการเดินทางกับความสามารถในการรองรับของระบบการบินที่แตกต่างกันอย่างมากในปัจจุบัน จนเป็นสาเหตุของราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดผลกระทบกับประชาชนและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำให้ราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ อีกทั้งยังให้ติดตามตรวจสอบราคาค่าโดยสารภายในประเทศอย่างสม่ำเสมอ
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า “ค่าตั๋วมีปรับตัวสูงขึ้นช่วงเทศกาล โดยเฉพาะกรณีจองหรือซื้อตั๋วในเวลากระชั้นชิด แต่ยังไม่มีสายการบินไหนที่ขายเกินเพดานราคาที่กำหนดไว้ จากข้อมูลเส้นทางไปภูเก็ตเดินทางในช่วงสงกรานต์ หากจองช่วงกุมภาพันธ์รวมภาษีแล้วอยู่ที่ 3,600 บาทต่อเที่ยว แต่มาจองเดือนมีนาคมราคาขยับขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็น 9,000 กว่าบาทต่อเที่ยว ซึ่งใน 1 เที่ยวจะมีทั้งถูกและแพง และเป็นกลไกด้านการตลาด หากจะได้ราคาถูกก็ต้องจองล่วงหน้า”