ประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล 16-22 พ.ค. 66 ออกอินทขีล 23 พ.ค. 66 ณ วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

2683

งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ประจำปี 2566 ตรงกับวันที่ 16-22 พฤษภาคม 2566 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ทำบุญออกอินทขีล ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

โดยในปีนี้ จะมีการเปิดพระวิหารหลวงชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนเข้าชม ก่อนจะปิดบูรณะอีกต่อเนื่องยาว 1 ปี

myWe31.jpg

IMG 1668

IMG 1692

IMG 8699

ตำนานความเป็นมาของ เสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่)

บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางอาณาจักล้านนา เป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ ในเมืองมีผีหลอกหลอน ทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือบันดาลบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วไว้ในเมือง เมื่อเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล แบ่งกันดูแลบ่อทั้งสามบ่อ บ่อละสามตระกูล โดยที่ชาวลัวะต้องถือศีล รักษาคำสัตย์ เมื่อชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมดังปรารถนา ชาวลัวะก็ปฎิบัติตามเป็นอย่างดี บรรดาชาวลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขความอุดมสมบูรณ์

ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรี ซึ่งเป็นตระกูลของชาวลัวะเลื่องลือไปไกล และได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวเมืองลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ หรือยักษ์สองตน ชื่อว่าพญายักขราช พญาอมรเทพ ขุดอินทขีลหรือเสาตะปูพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขีลนั้นมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม ชาวลัวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลและรักษาคำสัตย์และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์สองตนที่เฝ้าเสาอินทขีลโกรธ จึงพากันหามเสาอินทขีล กลับขึ้นสวรรค์ไป บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง

ชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชาเสาอินทขีลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองได้นำเสาอินทขีลกลับขึ้นสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมาก จึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาวบำเพ็ญศีลภาวณาอยู่ใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึงสามปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระได้บอกให้ลัวะ 4 ฝ่าย คือ พระภิกษุ ฤๅษี ผี และประชาชน ร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละ 1 คู่ ช้าง ม้า เป็นต้น ให้ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุม แล้วทำเสาอินทขีลไว้เบื้องบนทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้น
ภัยพิบัติ การทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาจึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือประเพณีบูชาเสาอินทขีล (ไหว้เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ประเพณีใส่ขันดอก

ประมาณปีพุทธศักราช 2343 พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับกองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้มีการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมา และได้ย้ายเสาอินทขีลมาประดิษฐานไว้ที่ วิหารเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร เมืองเชียงใหม่ มาจนถึงปัจจุบันนับอายุได้ 222 ปี พร้อมทรงปลูกต้นไม้หมายเมืองไว้คู่กับเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) คือต้นยางนา ด้วย

ต่อมาในสมัย พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ให้สร้างรูปปั้นกุมภัณฑ์และรูปพระฤๅษีไว้พร้อมเสาอินทขีล เป็นสัญลักษณ์คู่กันเอาไว้ข้างวิหารเสาอินทขีล

การสักการบูชาเสาอินทขีลจะเริ่มทำในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ และเสร็จในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ประจำทุกปี เรียกว่า เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง ฝนตกตามฤดูกาล