กรมอนามัย ย้ำ! สูบกัญชาในที่สาธารณะก่อเหตุรำคาญผิดกฎหมาย แจ้งท้องถิ่นคุมเข้มเฝ้าระวังการจัดงานสุ่มเสี่ยง

104

กรมอนามัย ย้ำ! สูบกัญชาในที่สาธารณะก่อเหตุรำคาญผิดกฎหมาย แจ้งท้องถิ่นคุมเข้มเฝ้าระวังการจัดงานสุ่มเสี่ยง

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน เป็นวันกัญชาโลก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำประชาชน และผู้ประกอบการต้องระวังการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจมีการจัดงานสูบบ้องเลียนแบบต่างประเทศ  ซึ่งกัญชาควรใช้ในทางการแพทย์ และภายใต้การควบคุมเท่านั้น นอกจากนี้ การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควัน ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เพราะการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม
เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืช ดังกล่าวข้างต้นจะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด และหลอดลมอักเสบได้

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า  กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขเรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565  โดยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก
เจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด จนเป็นเหตุรำคาญ เมื่อเจ้าพนักงานประสบเหตุ หรือได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการกระทำที่ก่อให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เจ้าพนักงานมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการกระทำนั้น หากพบเป็นที่ประจักษ์หรือมีพยานหลักฐาน ว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง  ให้ดำเนินการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ก่อเหตุ ผู้ร้องเรียน ผู้อยู่ใกล้เคียง ถึงพฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุได้กระทำการดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ และให้บันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน จากนั้น เจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำแนะนำให้ผู้ก่อเหตุรำคาญระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นภายในระยะเวลาอันสมควร  หลังจากนั้น จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำที่กำหนด หากผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควร หรือกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ในกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน  25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจตราเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังแล้วพบเห็นการกระทำดังกล่าวด้วยตนเอง สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายข้างต้นต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด