ผู้เสียหายร้องสื่อ ถูกโกงซื้อที่ดินย่าน อ.สารภี กว่า 10 โครงการ เสียเงินดาวน์-ผ่อนไปเกือบสองปี กว่าจะรู้ตัวว่าถูกโกงมีคนโดนไปกว่าพันราย ค่าเสียหายนับร้อยล้านบาท บางรายหมดตัวต้องอาศัยเช่าที่ดินวัดอาศัยอยู่
วันที่ 25 เมษายน 2566 กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีถูกหลอกซื้อที่ดินแบ่งแปลงขาย โดยสร้างโปรไฟล์น่าเชื่อถือโฆษณาผ่านทางสื่อออนไลน์ ตั้งชื่อบริษัทคล้ายผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์เจ้าใหญ่ในเมืองกรุง เชิญชวนให้ประชาชนไปซื้อที่ดินที่แบ่งแปลงขาย โดยอ้างว่าเจ้าของขายเอง และผ่อนโดยตรงกับเจ้าของไม่ต้องผ่านแบงก์ ล่อตาล่อใจเหยื่อด้วยการติดป้ายหน้าโครงการที่ดินกว่า 10 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอสารภี จ.เชียงใหม่ ขายที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา จองเพียง 5,000 บาท จากนั้นต้องวางเงินดาวน์ 40% และผ่อนกับเจ้าของโครงการอีก 36 งวด มีผู้หลงกลเสียเงินตั้งแต่หลักแสน จนถึงหลักล้านบาทนับพันราย
ทั้งนี้ที่ดินบางแห่งมีพื้นที่จริงแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นชื่อของคนอื่น และบางโครงการเป็นเพียงที่ดินทิพย์สำหรับโยกย้ายลูกค้าในโครงการอื่นๆไป กรณีที่พื้นที่จับจองเก่ามีปัญหา และบางพื้นที่แปลงเดียวกันกลับมีการขายซื้อซ้อน 3-4 ราย เวลาผ่านไปกว่าสองปี ลูกค้าที่เป็นเหยื่อเริ่มไหวตัวว่าโดนหลอก เพราะลูกน้องของโครงการมากระซิบความไม่ชอบมาพากลให้กับลูกค้าได้ทราบ และระยะหลังเริ่มติดต่อกับทางออฟฟิศและเจ้าของโครงการไม่ได้
ก่อนที่จะมีแกนนำกลุ่มผู้เสียหายจะเริ่มรวบรวมสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมสืบสาวราวเรื่องจนแน่ใจว่าถูกหลอก จึงให้ผู้เสียหายทุกรายไปแจ้งความตำรวจไว้ก่อน เพื่อหาทางดำเนินคดี พร้อมเข้าร้องเรียนสื่อมวลชนถึงพฤติกรรมของสาวใหญ่ตัวแสบเจ้าของโครงการ (นางสาวพิชามญชุ์ หอมหวน อายุ 43 ปี) และเตือนผู้ที่อาจไปหลงเชื่อซื้อที่ดินในลักษณะนี้
นายนัตถ์ธนินทร์ สินเจริญ แกนนำผู้เสียหาย เผยว่า วิธีการของเจ๊คนนี้คือไปหาซื้อที่ดินตามที่ต่างๆ แล้วไปทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับเจ้าของเดิม แล้วยืมหน้าโฉนดมาแบ่งเป็นล็อกขาย โดยบอกเจ้าของที่ดินเดิมว่าจะชำระค่าดินเป็นงวดๆ ให้หากขายที่ดินได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อแบ่งล็อกที่ดินในโครงการ 70-100 ล็อก เมื่อขายที่ดินให้กับเหยื่อได้กลับไม่นำเงินไปชำระเจ้าของที่ดินเดิม และหลายโครงการที่มีผู้ซื้อไว้กลับไม่มีโฉนดอยู่จริง หรือเป็นที่ดินทิพย์ ก็ใช้วิธีการเปลี่ยนไปเป็นที่ดินแปลงอื่น ซึ่งบางแปลงมีที่ดินเพียง 1 ไร่ แต่ซอยขายกว่า 60 ล็อก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และบางล็อกซื้อซ้ำๆ กันถึง 3-4 คน
เฉพาะผู้เสียที่ตนรวบรวมได้ขณะนี้มีประมาณ 900 กว่าคน ถ้ารวมผู้เสียหายอีกสองโครงการน่าจะมีรวมกว่าพันกว่าคน และรายชื่อที่ตกหล่นไปอีกหลายร้อยคน มีความเสียหายแต่ละราย ตั้งแต่ 8-9 หมื่นบาท ถึง 1.8 ล้านบาท ค่าเสียหายน่าจะมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ขณะนี้ผู้เสียหายแต่ละรายได้ทยอยเข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมายต่อเจ้าของโครงการต่อไป
ทางด้านนายเอ (นามสมมุติ) เหยื่อรายหนึ่งเผยว่า ตนมีอาชีพเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร ไปผ่อนที่ดินผืนหนึ่งไว้โดยดาวน์ไปกว่าสี่แสนบาท และผ่อนมาอีกสองปีแต่ถูกโกง ขณะนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่รู้จะอธิบายถึงความรู้สึกอย่างไร ทั้งชีวิตครอบครัวทั้งเงินมันพังสลาย จากที่เคยมีความหวังก็หมดหวัง เราอุตส่าห์ลำบากหาเงินไปผ่อนแต่คนคนหนึ่งมาหลอก เพราะหวังว่าวันหนึ่งจะไปอยู่ในที่ที่ตนเป็นเจ้าของ เพราะไม่เคยมีที่ดินมาก่อน เพราะทุกวันนี้ตนกับภรรยา ต้องเช่าพื้นที่ของวัดอาศัยอยู่ ส่วนภรรยาก็เครียดมากจนเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเงินที่เอาไปดาวน์และผ่อนเป็นเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต เพื่อสร้างครอบครัว
ส่วน ว่าที่ร้อยตรี อุทัน ใบยา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสารภี ให้ข้อมูลว่า กรณีแบบนี้เพิ่งเคยเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะการโฆษณาซื้อขายที่ดินตามสื่อสังคมออนไลน์ ทางสำนักงานที่ดินไม่มีสิทธิ์ไปตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ให้คำแนะนำว่า ก่อนที่จะตัดสินใจจะมัดจำซื้อที่ดิน
หากผู้ที่จะซื้อมีข้อสงสัยในที่ดินแปลงใด สามารถเข้าไปตรวจสอบโฉนดคู่ฉบับที่สำนักงานที่ดินได้ เพราะเอกสารสิทธิ์ในที่ดินในทะเบียนที่นำมาให้ดูนั้นอาจไม่อัปเดต ทางที่ดีเข้าไปตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ที่ดินจะดีที่สุด เพราะคนที่คิดจะหลอกมีวิธีการต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ต่อไปให้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือหน่วยงานที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องสอบสวน โดยให้ตัวแทนผู้เสียหายพยายามติดตามเรื่องดังกล่าว