ฝุ่นภาคเหนือคลี่คลายแล้ว หลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระดมสรรพกำลังและยุทโธปกรณ์เปิดปฏิบัติการบินโปรยน้ำบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน ทำฝนหลวง
วันที่ 28 เมษายน 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เดินทางมายังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมระดมอากาศยานแบบต่างๆ มาประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวง บรรเทาปัญหาหมอกฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งปีนี้ภาคเหนือประสบปัญหาค่อนข้างวิกฤติ โดยตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 27 เมษายน ได้ปฏิบัติการฝนหลวงด้วยอากาศยานขนาดกลาง (CASA) และประยุกต์ใช้อากาศยาน (CN, CASA) ติดตั้งเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยเปิดชั้นบรรยากาศ เพื่อให้ฝุ่นละอองที่มีการสะสมลอยตัวขึ้นไปได้ ช่วยบรรเทาและลดความหนาแน่นของ
ทั้งนี้ ฝุ่นละอองในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา ลำพูน สุโขทัย และจังหวัดน่าน รวมผลปฏิบัติการรวมทั้งสิ้น 28 วัน 85 เที่ยวบิน ใช้น้ำ 97,200 ลิตร และน้ำแข็งแห้ง 21,800 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังใช้เฮลิคอปเตอร์บินตักน้ำดับไฟป่าบริเวณอำเภอฮอดและอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติการรวม 42 เที่ยวบิน ใช้ปริมาณน้ำ 25,200 ลิตร โดยขึ้นปฏิบัติการทุกวันต่อเนื่องมานานกว่า 2 เดือน ยกเว้นเพียงไม่กี่วันที่วิสัยทัศน์การบินไม่ได้ ล่าสุดมีการระดมอากาศยานมาปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มากถึง 12 ลำ ซึ่งผลจากการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นควันให้ลดรุนแรงลงได้ คุณภาพอากาศกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดี จึงถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจในการแก้ปัญหาฝุ่นควันแล้ว นำอากาศยาน 8 ลำ กลับที่ตั้งหน่วย คงเหลืออยู่ 4 ลำ ที่จะปฏิบัติภารกิจทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและช่วยยับยั้งความรุนแรงของลูกเห็บต่อไป
ทั้งนี้อธิบดีกรมฝนหลวงและการเกษตรได้กล่าวขอบคุณนักบินและนักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งโครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเกษตร