ฮือฮา! ม.ขอนแก่น เปิดตัว “หมอลำเมตาเวิร์ส” นวัตกรรมทุนทางวัฒนธรรม ทดลองท่องโลกเสมือน ยกระดับหมอลำอีสานสู่โลกดิจิทัล
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทีมวิจัยโครงการวิทยาลัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน ร่วมกับทีมนักพัฒนา Metaverse จาก Khon Kaen InfiniteLand เปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่โลกเสมือน “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Molam Metaverse) ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ใหม่ที่ทุกคนสามารถท่องโลกหมอลำผ่านพื้นที่โลกเสมือนจักรวาลนฤมิตร
การออกแบบหมอลำจักรวาลนฤมิตร (Molam Metaverse) มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่และช่องทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลโดยใช้กลไกและหลักคิดของ Metaverse โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้จากทุนทางวัฒนธรรมด้านหมอลำได้ทุกที่ทุกเวลาและเสมือนจริง นอกจากนั้นพื้นที่หมอลำเมตาเวิร์สยังสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map) ที่เป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เกี่ยวโยงกับการประกอบการธุรกิจที่อยู่ภายใต้คลัสเตอร์หมอลำซึ่งจะช่วยส่งเสริมและเพิ่มการรับรู้ไม่ใช่เฉพาะหมอลำเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มพื้นที่เข้าถึงการประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
นอกจากนี้ Molam Metaverse จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ส่งเสริมการประกอบการในช่องทางดิจิทัลที่อำนวยประโยชน์แก่ธุรกิจหมอลำ ศิลปินหมอลำ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตพื้นที่ Molam Metaverse สามารถที่จะต่อยอดไปยังกิจกรรมและช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติมได้เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริม เป็นช่องทางการเผยแพร่องค์ความรู้ เรื่องราว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของหมอลำ เป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องมือดิจิทัลในรูปแบบใหม่ ให้กลุ่มผู้ประกอบการหมอลำ และสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานสู่การขยายฐานลูกค้าที่รับชมการแสดงหมอลำทั้งภายในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่รู้จักหมอลำมาก่อน
ผู้สนใจท่องโลกหมอลำเมตาเวิร์สสามารถเข้าชมได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1) ผ่าน web browser ที่ Link: MoLam Metaverse | Spatial
2) ผ่านแอฟพลิเคชัน spatial และใช้คำค้นว่า “Mo Lam”
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “หมอลำเมตาเวิร์ส” เกิดจากการตั้งคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ที่ว่า ในยุคที่เมตาเวิร์สเข้ามามีอิทธิพลในกระแสสังคมดิจิทัล หมอลำจะเข้าไปอยู่ในพื้นเสมือนนั้นได้อย่างไร เราไม่ทราบหรอกว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราอยากทดลอง ทดสอบ และอยากใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เกิดแนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยต่อยอดหมอลำให้ก้าวไปให้ทันยุคดิจิทัลให้ได้” หมอลำ เมตาเวิร์สนับเป็นนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ให้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักหมอลำสามารถเข้าถึงเข้าถึงหมอลำได้ง่ายขึ้น โดยการวิจัยครั้งนี้คณะผู้วิจัยมุ่งศึกษาทดลองกับ หมอลำหมู่ หรือ หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นหลัก ในพื้นที่โลกเสมือนหมอลำเมตาเวิร์ส ผู้วิจัยได้ออกแบบพื้นที่เชื่อมต่อกันเป็น 2 โซน ประกอบด้วย
โซนที่ 1 เปิดโลกหมอลำ เป็นพื้นที่โถงกลางให้คนได้เห็นภาพบรรยากาศหน้าเวทีหมอลำ มีอวาร์ตาร์ออกลีลาท่าเต้นอยู่หน้าเวทีการแสดงหมอลำ เสมือนการฉายภาพมโนมติให้เกิดจินตนาการสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักหมอลำ ก่อนที่จะเข้าไปสัมผัสโลกของหมอลำในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ในพื้นที่โซนที่ 1 ยังจัดให้มีช่องทางการเชื่อมต่อเข้าถึงหมอลำคณะต่าง ๆ ผ่าน Social Network และการเข้าถึงฐานข้อมูล Cultural Map ที่เชื่อมโยง Supply Chain ต่าง ๆ ที่เกิดจากหมอลำ ในส่วนสุดท้ายของโซนที่ 1 จะเป็นจุดที่ Avatar สามารถว้าปเข้าไปเยี่ยมชมในโซนที่ 2
โซนที่ 2 หมอลำแกลอรี เป็นพื้นที่แสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับหมอลำ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ยุคแรก จุดกำเนิดของหมอลำหมู่ที่พัฒนามาจากหมอลำพื้น ยุคที่สอง ยุคที่พัฒนาจากหมอลำพื้นสู่หมอลำหมู่ ยุคที่สามคือยุคที่พัฒนาสู่คอนเสิร์ตหมอลำเรื่องต่อกลอน และส่วนสุดท้าย แสดงหมอลำ Avatar ที่นำเสนอการปั้นหุ่นอวาร์ตาร์ตัวแสดงสำคัญของหมอลำหมู่ ในส่วนสุดท้ายเป็นการนำเสนอนวัตกรรมดิจิทัลในพื้นที่จักรวาลนฤมิตร (Metaverse) โดยการจัดแสดงหมอลำและนักแสดงอวาตาร์ที่ทีมวิจัยได้ออกแบบขึ้น หมอลำอวาตาร์ที่นำเสนอประกอบด้วย พระเอก นางเอก ในยุคแรกและยุคปัจจุบัน โดยสังเกตได้จากลักษณะเครื่องแต่งกาย รวมถึงตัวอวาตาร์ที่เป็นศิลปินนักแสดงในส่วนต่าง ๆ ของคณะหมอลำ เช่น ตลก แดนเซอร์ เป็นต้น นอกจากนั้น หมอลำอาวาตาร์ที่นำเสนอยังสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยลีลาท่าทางการฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์เสมือนจริงแก่ผู้เข้าชมได้ใกล้ชิดกับหมอลำอวาตาร์ ประสบการณ์จากการทำหมอลำเมตาเวิร์สทำให้คณะผู้วิจัยได้สัมผัสกับประสบการณ์การออกแบบและทดลอง ซึ่งเชื่อว่ายังไม่มีที่ใดมาก่อน อีกทั้งทำให้นักวิจัยสามารถสร้างจินตนาการจากการทดลองนี้เพื่อต่อยอดไปยังการออกแบบส่วนอื่น ๆ ให้สมบูรณ์ในอนาคต