5 มิ.ย. 66 – เพจเฟซบุ๊ก “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ แมวบ้าน ที่ขึ้นแท่นเอเลียนสปีชีส์อันดับต้นๆ ของโลก โดยระบุว่า
หลายคนที่ได้ยินแบบนี้แล้วคงตกใจไม่น้อย ว่าเจ้าแมวเหมียวสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักของใครหลายๆ คนจะกลายเป็นสายพันธุ์สัตว์รุกรานต่างถิ่นและอยู่ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นรุกรานร้ายแรงของโลก ไปได้อย่างไร?
คำตอบนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะแมว โดยเฉพาะ “แมวจรจัด” คือนักฆ่าฝีมือฉกาจนั่นเอง
แมวบ้าน หรือ แมวจรจัด ( Felis catus ) เป็นสัตว์นักล่าที่ทุกคนรู้จักกันดี ในธรรมชาตินั้นความความสัมพันธ์ของนักล่าและเหยื่อ คือ นักล่าจะล่าเฉพาะตอนมันหิว แต่ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้กับนักล่าตัวจิ๋วอย่างแมวที่บางครั้งล่าเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น
การล่าของแมวส่งผลกระทบต่อประชากรของสัตว์เล็กเป็นวงกว้าง เป็นเหตุให้สัตว์หลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไป แต่อันดับ 1 ในใจของพวกมันที่ถูกล่ามากที่สุดคือนก
จนหลายประเทศมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการออกล่าของแมวบ้านกับจำนวนสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่า ขอบอกเลยว่าตัวเลขจากสถิตินั้นอาจทำให้ใครหลายคนถึงกับอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว
วอยแจค โซลาร์ซ (Wojciech Solarz) นักชีววิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์ เผยสถิติให้เห็นว่า แมวบ้านในพื้นที่เกษตรกรรมของโปแลนด์ ฆ่าและกิน “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ในพื้นที่สูงถึงกว่า 583.4 ล้านตัวต่อปี และมี “นก” ที่กำลังบินอยู่ในอากาศถูกแมวกินไปเป็นจำนวนสูงถึงประมาณ 135.7 ล้านตัวต่อปีเลยทีเดียว
ในประเทศออสเตรเลียมีการศึกษาผลกระทบของแมวที่มีต่อสัตว์พื้นถิ่นได้มีการสรุปออกมาว่า ในแต่ละวันแมวจรจัดทั่วออสเตรเลียสามารถล่านกพื้นเมืองกว่า 1 ล้านตัว และสัตว์เลื้อยคลานอีกราว 1.7 ล้านตัว
และยังมีนกอีกร้อยละ 37 ของสายพันธุ์นกทั้งหมดในประเทศนิวซีแลนด์ถูกคุกคามโดยแมวจรจัด เนื่องจากนกสายพันธุ์ท้องถิ่นในประเทศส่วนใหญ่เป็นนกที่หากินบนพื้นดิน ทำให้โอกาสที่จะถูกแมวล่าได้ง่ายยิ่งขึ้น
แต่ในไทยยังไม่มีการศึกษาผลกระทบของแมวจรจัดหรือแมวที่เจ้าของเลี้ยงแบบปล่อย ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่าแมวสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองมากน้อยเพียงใด
ดังนั้น แผนการจัดการที่หลาย ๆ ประเทศขอความร่วมมือจากประชาชน คือ ขอให้เจ้าของแมวจำกัดเวลาออกไปเล่นนอกบ้านให้น้อยลงระหว่างฤดูผสมพันธุ์ของนก หรือจำกัดให้เลี้ยงได้ไม่เกินสองตัวต่อหนึ่งครัวเรือนเท่านั้น ที่สำคัญหากนำมาเลี้ยงควรดูแลให้ดีอย่าปล่อยทิ้งให้กลายเป็นแมวจรจัดจนกลายเป็นภาระของสังคม
ที่มา : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand