6 มิ.ย. 66 – จากกรณีสื่อเผยแพร่ข้อมูลความแปลก เมื่อนายสิบจบใหม่ ถูกเกณฑ์ไปเป็น ตำรวจควบคุมฝูงชน เกือบทั้งรุ่น โดยทางเพจระบุข้อความว่า ตำรวจนายสิบที่พึ่งจบใหม่รู้สึกไม่สบายใจ ที่ตัวเองและเพื่อนร่วมชั้นถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นตำรวจคุมฝูงชน โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก โดนเกือบทั้งรุ่น เขาเลยตั้งคำถามถามว่าทำไมต้องการ คฝ. เยอะมากหลังเลือกตั้งยุคข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนตื่นรู้แล้ว ยุคสมัยของประเทศอื่น ๆ ในโลกก็เปลี่ยนแปลงไป หากจะใช้วิธีเดิม ๆ ในอดีต กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และกองกำลังตัวเองยังไม่เอาด้วยแล้ว ผลย่อมออกมาไม่เหมือนเดิมนั้น
พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าในห้วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีภารกิจในการดูแลและบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะในหลายพื้นที่ หลายการชุมนุมขนาดใหญ่ จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศมาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม มีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจมีระยะเวลาการชุมนุมติดต่อกันยาวนาน อันอาจส่งผลกระทบให้ขาดแคลนกำลังพลในสถานีตำรวจต่าง ๆ การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเจ้าหน้าที่สายตรวจ สืบสวน จราจร หรืองานต่าง ๆ ในระดับสถานีตำรวจจะขาดกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ตร. (กองอัตรากำลังพล) จึงได้วิเคราะห์ภารกิจและกำหนดนโยบายในการเพิ่มอัตรากำลังที่จะดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ โดยพิจารณาจากจำนวนสถิติพื้นที่ ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นจำนวนมากหรือปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมสูง ระยะเวลาหลายๆ วัน เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังในการดูแล การชุมนุมฯ เป็นการเฉพาะ เพื่อไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์ สุขของประชาชนในระดับสถานีตำรวจ โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังจากสถานีตำรวจให้น้อยที่สุด โดยกำหนดเพิ่มอัตรากองร้อย คฝ. ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และในจังหวัดอื่น ๆ โดยกำหนดอัตรา ประจำ กก.สส.บก.สส. ภ.1 2 7และ อัตราประจำ กก.ปพ.บก.สส. เสมือนการดำรงตำแหน่งไว้ชั่วคราวเพื่อรอการลงประจำสถานีตำรวจ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีภารกิจการชุมนุมฯ ตร. ได้กำหนดแนวทางให้ ผบช. หรือ ผบก. ต้นสังกัด สามารถบริหารจัดการให้กำลังดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถานีตำรวจ ได้ตามแต่ห้วงเวลา หรือให้สนับสนุนภารกิจการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น การแสดงดนตรี ขบวนพาเหรด มหรสพ การแข่งขันกีฬา ฯลฯ การรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เป็นต้น
อนึ่ง การนำ นสต. ที่จบการศึกษาใหม่ มาลงในตำแหน่งกองร้อย คฝ. จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านงานป้องกันปราบปราม ยุทธวิธีตำรวจ การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษต่าง ๆ เตรียมความรู้ด้านข้อกฎหมาย การตรวจค้น การจับกุม การติดต่อสื่อสารและการทำงานเป็นทีม เพื่อเพิ่มทักษะความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่งานป้องกันปราบปราม จราจร สืบสวน สอบสวน เป็นต้น และเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบตามวาระ ก็จะแต่งหมุนเวียนไปสถานีตำรวจเป็นวงรอบ สับเปลี่ยนกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจและมีความพร้อมฯ ตลอดจนพัฒนาเป็นครูฝึกยุทธวิธีตำรวจต้นแบบให้กับ นสต. รุ่นอื่น ๆ ต่อไป