ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบประตูเมืองเชียงใหม่ พบอนุสาวรีย์ช้างเผือกทรุดโทรมหนัก งาช้างหัก กำแพงเสียหายจากรถชน สั่งสำนักศิลปากรที่ 7 เร่งซ่อมแซมทุกจุดก่อนฝนตกหนัก
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน และนางสาวนาตยา ภูศรี ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี ลงพื้นที่ตรวจโบราณสถานสำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2565 เกิดฝนตกหนักจนทำให้ประตูช้างพังลงมาจากฝนตกหนัก จนดินทรุดตัว ทั้งยังพบรอยร้าวเป็นแนวยาวที่ประตูสวนดอก แต่ไม่เสียหายเนื่องจากมีแรงดันจากคันดินที่ช่วยพยุงไว้ ต่างกับประตูช้างเผือกที่ไม่มีเนินดิน
โดยหลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบความเสียหาย จึงได้ประสานกับเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อทำการซ่อมแซม ซึ่งได้มีการขุดเจาะ เย็บและรัดดามเฝือกที่ประตูช้างเผือก และให้เจ้าหน้าที่ศิลปากรขุดสำรวจ ด้วยการใช้แรงคนเพื่อป้องกันความเสียหาย และเพื่อค้นหาแนวทางตามหลักโบราณคดี ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นข้อมูลในการออกแบบประตูช้างเผือกตามข้อเสนอต่างๆ โดยพร้อมรับฟังความเห็น ภายใต้พื้นฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยสำนักศิลปากรที่ 7 จะนำข้อมูลที่ได้ไปสรุป และจะพิจารณาออกแบบให้เป็นน้ำพุเช่นเดิม หรือเป็นลานต่อไป
ในส่วนของอนุสาวรีย์ช้างเผือก(ข่วงช้าง) ที่มีอายุกว่า 600 ปี นั้น จากการสำรวจพบว่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ด้านขวาช้างเผือกชื่อว่า “พญาปราบเมืองมาร เมืองยักษ์” งาหัก โครงสร้างทรุดตัวเอียง จากสภาพที่เก่าแก่ตามอายุ และถูกรถชนกำแพง ” เช่นเดียวกับด้านซ้าย ชื่อว่า “พญาปราบจักรวาล” ที่ งาหักเช่นกัน มีสภาพที่เก่าแก่ตามอายุ มีลักษณะปูนร่อน มีการทาสีทับหลายครั้ง ทำให้เกิดสีร่อน โดยสำนักศิลปากรฯสามารถซ่อมแซมได้บางส่วน ในระยะต่อไป และจะประสานเทศบาลนครเชียงใหม่มาทำประตูเพื่อป้องกันคนเร่ร่อน และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ให้คนในชุมชนช่วยกันดูแล จะได้เป็นสถานที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่ต่อไป
อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ จากแผ่นจารึก ระบุว่า สร้างในสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 9 ของล้านนาไทย ระหว่าง พ.ศ.1931-1954 โดยมหาดเล็กชื่ออ้ายออบ และอ้ายยี่ระ ซึ่งได้ช่วยเหลือพญาแสนเมืองมาโดยผลัดกันแบกพระองค์ให้พ้นอันตรายจากการโจมตีของกองทัพสุโขทัย กษัตริย์ล้านนาได้ปูนบำเหน็จมหาดเล็กทั้งสองให้เป็นที่ พวกช้างซ้ายขวา หรือขุนช้างซ้าย ขุนช้างขวา ขุนช้างทั้งสองตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงโฉม ซึ่งอยู่ทิศด้านตะวันออกของเมืองเชียงใหม่
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่