ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ ลุยดอยขุนแปะ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง ให้บริการถ่ายบัตรประชาชนผู้สูงอายุสองรายอายุ 106 ปี เพื่อให้สามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการจากภาครัฐหลังได้รับการประสานงานจากอำเภอจอมทอง
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับนายหมวดเอกจิรพล สนธิคุณ ปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนฯ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นำเจ้าหน้าที่ สำนักทะเบียนอำเภอจอมทอง ได้ออกให้บริการทำบัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smrat Card) ให้กับผู้ป่วยติดเตียง และผู้ซึ่งมีปัญหาในการเคลื่อนย้าย ในพื้นที่ทุรกันดารในพื้นที่ดอยขุนแปะ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง หลังเจ้าหน้าที่ได้รับการประสานจากนายยุทธพงศ์ ไชยศร นายอำเภอจอมทอง ลงพื้นที่ให้บริการประชาชน ส่วนใหญ่ราษฎรเป็นชาวไทยภูเขา ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้บริการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนให้กับประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุรวมทั้งหมด 17 ราย โดยพบผู้สูงอายุ ชื่อนางสุก แสนทวีโภคทรัพย์ อายุ 106 ปี หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ร่วมมอบบัตรประชาชนให้ประชาชนที่เข้ารับบริการ
ด้าน หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าตามนโยบายของ กรมการปกครอง ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยติดเตียง คนชรา หรือผู้พิการที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อรับบริการสวัสดิการทางภาครัฐ ทั้งการรักษาพยาบาล เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เป็นต้น ซึ่งช่วงเดือนมิถุนายน นี้เจ้าหน้าที่ ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ให้บริการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวม 96 รายส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ญาติไม่สะดวกจะมารับบริการที่สำนักทะเบียนอำเภอ
ส่วนกรณี ที่ญาติป่วยติดเตียงอาการหนัก และบัตรประชาชนหมดอายุ แต่เจ้าหน้าที่อำเภอเมืองปทุมธานี ยืนยันต้องนำผู้ป่วยมาจะติดเตียงมาถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนโดยให้นั่งรถเข็นมาวันต่อมาทำให้ผู้ป่วยรายดังกล่าวเสียชีวิตฯ กรณีดังกล่าวอาจจะเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ซึ่งญาติสามารถติดต่อไปยังปลัดอำเภอฯที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกรมการปกครองที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน สามารถร้องขอรับบริการที่เทศบาล อบต. และที่ว่าการอำเภอ อย่างไรก็ตามในส่วนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สะดวกติดต่อ อบต.เทศบาล แจ้งให้ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยประสานงานที่ว่าการอำเภอหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะได้ประสานศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัด นั้นๆ เพื่อลงพื้นที่ให้บริการต่อไป