กรมอนามัย ชี้ “ความหวาน” มีประโยชน์หรือโทษขึ้นอยู่กับปริมาณ

92

5 ก.ค. 66 – นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมประกาศว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ‘แอสปาแตม (Aspartame)’ เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแบบไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาล 0% เพื่อต้องการควบคุมน้ำหนักไม่ให้ได้รับพลังงานจากน้ำตาลเพิ่มแต่ก็ยังติดได้รสชาติหวานอยู่ กรมอนามัยจึงอยากชี้ให้ประชาชน เข้าใจเกี่ยวกับน้ำตาลให้ถูกต้อง น้ำตาลจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน น้ำตาลธรรมชาติ (Sugar) ที่ใช้ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบขึ้นกับวัตถุดิบและกรรมวิธีที่ผลิตทั้งน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด น้ำตาลโตนด น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ และ น้ำเชื่อม เป็นต้น ส่วนน้ำตาลเทียม (Artificial Sweeteners) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแต่งเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลธรรมชาติ มีทั้งแบบที่ให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน นิยมใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและพลังงาน เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก โดยสารให้ความหวานที่นิยมใช้กัน ได้แก่ แอสพาร์เทม (Aspartame) แซ็กคาริน (Saccharin) แอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame potassium) ซูคราโลส (Sucralose) นีโอแทม (Neotame)

ทั้งน้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลเทียมควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หากกินในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายได้ การกินน้ำตาลธรรมชาติมากเกินไป จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะน้ำหนักเกิน สี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น หรือหากเราบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นประจำ ลิ้นจะคุ้นกับรสหวานที่มากเกินไป อาจจะทำให้ติดรสหวาน และไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็ก ซึ่งเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะกินอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว โดย American Diabetes Association (ADA) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารให้ความหวาน คือ ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรใช้ได้ในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือจำกัดการใช้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า แม้สารให้ความหวานจะมีแคลอรีต่ำ แต่ส่งผลให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเซลล์ไขมันมากขึ้นอีกด้วย

“ดังนั้น หากร่างกายต้องการความหวาน ควรกินน้ำตาลแต่พอดี คือ ไม่ควรกินเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน โดยเด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกิน วันละ 4 ช้อนชา และสำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน วันละ 6 ช้อนชา และควรจำกัดการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อย่างแอสปาร์แทม ซูคราโลส อะเซซัลเฟมเค และแซลคาริน เลือกกินน้ำตาลจากธรรมชาติหรือน้ำตาลจากผลไม้สด เพราะมีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย อุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และไฟโตนิวเทรียนท์ แต่ถึงแม้ว่าน้ำตาลในผลไม้จะมีคุณค่าต่อร่างกาย แต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดมากเกินไป ควรเลือกผลไม้หวานน้อย เช่น กล้วย แอปเปิล ส้ม ฝรั่ง สาลี่ แตงโม สตรอว์เบอร์รี และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

อาจเป็นรูปภาพของ ยา และ ข้อความ