รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ยกระดับการบริการด้านสุขภาพ เปิดตัวห้องฉุกเฉินระบบดิจิตอลครบวงจร ทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ

476

13 ก.ค. 66 – โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องฉุกเฉินระบบดิจิตอล ครบวงจร ทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ พร้อมก้าวสู่ Digital Hospital รองรับผู้ป่วยในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่มีภาวะวิกฤตให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด ภายในห้องฉุกเฉินมีครุภัณฑ์การแพทย์ที่ทันสมัย ห้องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ห้องผ่าตัดในห้องฉุกเฉิน ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณอื่น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นศูนย์อุบัติเหตุระดับ 1 ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดให้บริการพร้อมอาคารเฉลิมพระบารมีที่ก่อสร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ให้บริการมานานกว่า 17 ปี จึงได้มีโครงการปรับปรุงห้องฉุกเฉินให้มีความทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ ทั้งนี้เพื่อให้มีความสะดวก ปลอดภัย ต่อผู้เข้ารับบริการในระดับสูงสุด เนื่องจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน ดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งในพื้นที่รับผิดชอบ และผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลทั่วทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงห้องฉุกเฉิน ให้เป็นห้องฉุกเฉินที่มีระบบดิจิตอล ครบวงจร มีความทันสมัยระดับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุดตามวิสัยทัศน์คณะแพทยศาสตร์ มช. ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลสถิติการให้บริการของห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปี 2565 มีผู้มารับบริการ จำนวน 31,733 ราย เฉลี่ย 100 คนต่อวัน อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคฉุกเฉินจากโรคหลอดเลือดต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบเฉียบพลัน ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูงหรือพิการถาวร หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ทางคณะแพทยศาสตร์ มช. จึงริเริ่มโครงการการปรับปรุงห้องฉุกเฉิน ให้เป็นห้องฉุกเฉินครบวงจรที่มีห้องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง รักษาหลอดเลือดอุดตันรวมถึงการมีห้องผ่าตัดในห้องฉุกเฉินที่สามารถรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณอื่น

การปรับปรุงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ครั้งนี้ ใช้ระยะเวลากว่า 6 เดือน โดยได้ย้ายห้องฉุกเฉินเดิมจากอาคารเฉลิมพระบารมี ไปยังบริเวณพื้นที่ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารตะวัน กังวาลพงศ์ โดยใช้เป็นห้องฉุกเฉินชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 และจะย้ายผู้ป่วยกลับมายังห้องฉุกเฉินใหม่ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 นี้ โดยได้รับงบประมาณจากโครงการปรับปรุงอาคารหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และอาคารที่เกี่ยวข้อง 35,219,744.27 บาท รวมถึงครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจชนิดระนาบเดี่ยว 36,800,000 บาท เครื่องเอกซเรย์สนามแม่เหล็ก MRI 70,000,000 บาท เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 160 สไลด์ต่อการหมุน 1 รอบ 36,000,000 บาท เครื่องติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วยที่สามารถเชื่อมต่อระบบเครือข่ายได้ 4 เครื่อง 10,000,000 บาท และเครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นความถี่สูงชนิดเคลื่อนที่ได้ 2 เครื่อง 10,000,000 บาท จำนวนรวมทั้งสิ้น 198,019,744.27 บาท ”

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “ห้องฉุกเฉินใหม่จะมีการแบ่งประเภทพื้นที่ในการบริการ แบ่งระดับความรุนแรงเร่งด่วนของผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 Resuscitated ผู้ป่วยที่ต้องทำการช่วยฟื้นคืนชีพ ได้รับการตรวจรักษาทันที, ระดับ 2 Emergency ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้รับการตรวจภายใน 10 นาที, ระดับ 3 Urgency ผู้ป่วยที่มีอาการเร่งด่วน ได้รับการตรวจภายใน 30 นาที, ระดับ 4 Less urgencyผู้ป่วยที่มีอาการไม่เร่งด่วน ได้รับการตรวจภายใน 60 นาที และระดับ 5 Non urgency ผู้ป่วยทั่วไปหรือมาตามนัด ได้รับการตรวจภายใน 120 นาที ทำให้ระบบการดูแลเป็นสัดส่วน และตอบสนองต่อการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในโรงพยาบาลทุกระดับให้พร้อมรับคนไข้วิกฤตฉุกเฉิน ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในทุกรูปแบบ

โดยภายในห้องฉุกเฉินใหม่ ประกอบด้วยห้องตรวจทางรังสีหลอดเลือด รวมทั้งตรวจสวนหลอดเลือด เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยทันทีเมื่อมาถึงห้องฉุกเฉิน เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ จำนวน 1 ห้อง, ห้องตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) จำนวน 1 ห้อง, ห้องแยกดูแลผู้ป่วยวิกฤตและสามารถทำการผ่าตัดรักษาชีวิตที่ห้องฉุกเฉินได้ทันทีโดยไม่ต้องรอขนย้ายผู้ป่วยไปห้องผ่าตัดที่อาจจะเกิดความล่าช้าในการรักษา จำนวน 3 ห้อง, ห้องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) จำนวน 1 ห้อง, ห้องแรงดันลบเพื่อแยกตัวผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงที่สามารถแพร่กระจายได้ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้ป่วยอื่นๆ และบุคลากร จำนวน 4 ห้อง, ห้องที่ใช้ในการตรวจผู้ป่วยฉุกเฉินทางตา หู คอ จมูก จำนวน 1 ห้อง, ห้องใส่เฝือกสำหรับผู้ป่วยกระดูกหัก จำนวน 1 ห้อง”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นอย่างที่สุดในการที่จะช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะคุกคามแก่ชีวิตอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในทุกช่วงของการบริการ เราได้นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบ smart ambulance สามารถให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถแบบ real time จากจุดเกิดเหตุจนกระทั่งถึงโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และยังมีระบบ การแพทย์ทางไกลที่เชื่อมโยงระหว่างห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ให้บริการรวมทั้งสิ้น 20 แห่งในเขตภาคเหนือ ทำให้ห้องฉุกเฉินระบบดิจิตอลนี้ครบวงจร เป็นห้องฉุกเฉินที่มีความทันสมัยและเป็น Digital Hospital อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รอดชีวิตมากที่สุดตามมาตรฐานในระดับสากล”

ประมวลภาพ :