จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันร่วมกับภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน ตัดวงจรการเผาที่เป็นสาเหตุของการเกิด PM 2.5 และเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตรเป็นชีวมวลอัดเม็ด สร้างรายได้กลับคืนให้ชาวบ้านแทน
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ ชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงความร่วมมือภาคีเครือข่าย “เชียงใหม่ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน” โดยมี นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายเข้าร่วม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานมานับ 10 ปี ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาเตรียมพื้นที่ หรือเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ดังนั้น จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย องค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหา โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ตัดวงจรการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยจะให้เกษตรกรนำเศษวัสดุที่เหลือจากการทำการเกษตรมาอัดเป็นชีวมวลอัดเม็ด สำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม ผ่านแคมเปญ “หยุดเผา เรารับซื้อ” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนมาขายเศษซากทางการเกษตรแทนการเผา ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้เพิ่ม และยังช่วยลดปัญหา PM 2.5 ในระยะยาว โดยจังหวัดเชียงใหม่พร้อมสนับสนุนและให้การอำนวยความสะดวก
ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจตลาดคาร์บอนเครดิต พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยในการแก้ปัญหา PM 2.5 โดยการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่า ตามหลักการคาร์บอนเครดิต สามารถนำไปซื้อขายกับต่างชาติได้ แล้วนำเม็ดเงินกลับสู่ประเทศไทย โดยเริ่มต้นด้วยโครงการ “หยุดเผา เรารับซื้อ” เป็นโครงการแรกที่เรียกว่า โครงการคาร์บอนเครดิตเชียงใหม่ 1 คือ เปลี่ยนขยะทางการเกษตร เป็นพลังงานอัดแท่ง wood pellet เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกและเป็นพลังงานหมุนเวียนกลับคืนสู่ชุมชน ส่งออกขายต่างประเทศ ทำให้เกิดธุรกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้นผ่านกลไกลการค้าคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นนำร่องดำเนินการในพื้นที่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และจะขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตรเป็นเม็ดเงิน กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดคาร์บอนเครดิตเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “หยุดเผา เรารับซื้อ” ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 093-416-5953
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่