ปปช. เปิดบัญชีทรัพย์สิน “ธรรมนัส พรหมเผ่า” รวยขึ้นกว่า 300 ล้าน รวมคู่สมรส 2 คน ทรัพย์สินทะลุ 1 พันล้านบาท

987

17 ก.ค. 66 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 100 คน กรณีพ้นจากตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ “ธรรมนัส” อายุ 58 ปี แจ้งชื่อคู่สมรส คือ นางอริสรา พรหมเผ่า อายุ 55 ปี มีทรัพย์สินรวมกัน 1,043,096,356.19 บาท

ทั้งนี้เป็นทรัพย์สินเฉพาะ รอ.ธรรมนัส 802,149,770.03 บาท มีหนี้สินรวมกัน 85,080,355.97 บาท เป็นหนี้สินเฉพาะของ รอ.ธรรมนัส 76,265,801.66 บาท พร้อมแจ้งคู่สมรสอีก 1 คน คือ นางสาวธนพร ศรีวิราช อายุ 29 ปี มีทรัพย์สิน 108,021,974.70 บาท และ มีหนี้สิน 3,260,821 บาท

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

เมื่อเปรียบเทียบกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หลังพ้นจากตำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งยื่นต่อ ปปช. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 พบว่า มีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 200 ล้านบาท ส่วนคู่สมรส นางอริสรา มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น กว่า 150 ล้านบาท รวมแล้วทั้งสองคน มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มมากขึ้น กว่า 300 ล้านบาท และ มีหนี้สินรวมกันลดลง เกือบ 100 ล้านบาท ส่วนนางสาวธนพร มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 50 ล้านบาท มีหนี้สินลดลงกว่า 8 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีบัญชีเงินฝาก 33 บัญชี กว่า 166 ล้านบาท ที่ดิน 79 แปลง มูลค่า กว่า 281 ล้านบาท รายการโรงเรือน และ สิ่งปลูกสร้าง 17 หลัง มูลค่ากว่า 52 ล้านบาท รถยนต์ 20 คัน จักรยานยนต์ 1 คันมูลค่ารวมกว่า 46 ล้านบาท สัญญาประกัน มูลค่ารวมกว่า 96 ล้านบาท พระเครื่อง 6 องค์ ประเมินค่าไม่ได้ ประกอบด้วย สมเด็จบางขุนพรหม เบญจภาคี พิมพ์ปรกโพธิ์, พระกริ่งชัยวัฒน์เนื้อทองคำ, พระยอดธง, หลวงปู่สะดุ้งกลับ, เหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นที่ 1 และ พระรอดลำพูน พร้อมตลับทองฝังเพชร เครื่องประดับ นาฬิกา และ ปืน 7 กระบอก เป็นต้น

อ่านเอกสารฉบับเต็ม คลิก

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ประวัติ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ร้อยเอก ธรรมนัส ชื่อเล่นคือ ตุ๋ย เกิด 18 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เป็นนักการเมืองและอดีตทหารบก อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

ธรรมนัสเริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ธรรมนัสได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขตที่ 1 โดยชนะอรุณี ชำนาญยา เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ที่มา : wikipedia