เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ณ ห้องประชุมแกรนด์ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานเปิดโครงการแม่โจ้เมืองสีเขียว ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยความเป็นมาของโครงการ สืบเนื่องจากเทศบาลเมืองแม่โจ้ประสบปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย และสิ่งแวดล้อมมาโดยต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วไป เทศบาลเมืองแม่โจ้ต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาที่สูงมาก ปีละไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และก็พยายามแก้ไขปัญหา มาโดยต่อเนื่อง
เมื่อปี พ.ศ. 2564 นายประหยัด ทรงคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่โจ้ ได้แถลงนโยบาย ต่อสภาเทศบาลที่จะแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยได้ตระหนัก ถึงความสำคัญ และเห็นว่าเป็นปัญหาที่สำคัญเร่งด่วนปัญหาหนึ่งของเทศบาลเมืองแม่โจ้ จึงได้เริ่มจัดทำโครงการแม่โจ้เมืองสีเขียวขึ้น ในปีงบประมาณ 2565 ภายใต้แนวคิด “ขยะจะไม่แขยง ถ้าเราร่วมแรงคัดแยกขยะ” เป็นการอบรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการ ระดมความคิดเห็นในลักษณะของห้องปฏิบัติการทางสังคม Social Lab จึงได้ข้อสรุปว่า ขยะเกิดจากตัวเรา ใครก็แก้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยกัน และได้มีมติร่วมกันว่า การจัดการแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุด คือ การจัดการขยะต้นทาง
ในปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งงบประมาณต่อยอดโครงการ โดยการอบรมภายใต้โครงการเงินอุดหนุน โครงการพัฒนาระบบสุขาภิบาลในชุมชน ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับชุมชน 19 ชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมอบรมให้ความรู้ การจัดทำถังขยะเปียก การคัดแยกขยะ การซื้อขายขยะ การจัดตั้งธนาคารขยะ
และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ท่านและภริยาได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม การซื้อขายขยะของชุมชน ณ วัดสิริมงคลบุญญาราม และได้มอบนโยบายเรื่องแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยขอให้ประชาชนงดเผาเศษกิ่งไม้และให้ใช้ใบไม้มาทำปุ๋ย
ต่อมา เทศบาลเมืองแม่โจ้ ได้จัดอบรมให้ความรู้ในการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ ไม่พลิกกลับกอง โดยใช้สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ 1 และจัดให้มีการประกวดแข่งขัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม กระตุ้น สร้างจิตสำนึก และเป็นขวัญกำลังใจกับผู้ร่วมโครงการ
กิจกรรมต่างๆ ที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ได้ร่วมทำกับชุมชน 19 ชุมชน ผู้ร่วมกิจกรรมประมาณหนึ่งพันกว่าคนได้เสร็จสิ้นแล้ว สามารถทำให้เทศบาลเมืองแม่โจ้ แก้ไขปัญหาขยะได้ มีปริมาณขยะจากต้นทางลดลง ประชาชนมีการคัดแยกขยะเพิ่มขึ้น ชุมชนจัดทำถังขยะเปียกมากกว่า 90% มีการซื้อขายขยะในชุมชน ชุมชนมีรายได้ และที่สำคัญได้นำข้อดำริจากท่าน ดำเนินการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ไม่พลิกกลับกอง สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ 1
วันนี้ทั้ง 19 ชุมชน นำมาจัดนิทรรศการและนำเสนอผลงาน สามารถนำปุ๋ยใบไม้ ที่ได้ไปใช้ในชุมชน และวางจำหน่ายแล้ว ผู้ร่วมโครงการอบรมในวันนี้ ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ประธานชุมชน คณะกรรมการชุมชน ประชาชนในชุมชน จำนวน 300 คน การจัดโครงการแม่โจ้เมืองสีเขียว ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ วัด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โรงเรียน ภาคเอกชน องค์กร ชุมชน
สำหรับเงินรางวัลในการประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับชุมชน และ ระดับครัวเรือน
รางวัลชนะเลิศ ระดับชุมชน เงินรางวัล 10,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับชุมชน เงินรางวัล 5,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับชุมชน เงินรางวัล 4,000 บาท
รางวัลชนะเลิศ ระดับครัวเรือน เงินรางวัล 4,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับครัวเรือน เงินรางวัล 3,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับครัวเรือน เงินรางวัล 2,000 บาท
ปัจจุบันเทศบาลเมืองแม่โจ้ ได้ผลิตปุ๋ยหมักสูตร วิศวกรรมแม่โจ้ 1 ได้ชุมชนละ 1500 กิโลกรัม รวม 19 ชุมชน ได้จำนวน 28500 กิโลกรัม บรรจุกระสอบละ 5 กิโลกรัม รวม 5700 กระสอบ จำหน่วยกระสอบละ 35 บาท / 3กระสอบ 100 บาทเป็นเงิน 199500 บาท