กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถลงการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของประเทศไทย อายุ 150 ล้านปี
วันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดแถลงข่าว ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) โดยมีนางภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วยนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ และดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมทรัพยากรธรณี และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทย มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ถูกพบในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิด และไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 จากแหล่งภูน้อย อีกทั้งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวแรกในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ที่มีโครงกระดูกสมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น อาทิ ปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมถึงไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ใต้ชั้นหินอีกจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมอื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์จะช่วยส่งเสริมให้อุทยานธรณีกาฬสินธุ์เป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศต่อไปได้