ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต รูมาโทโลจี (Lancet Rheumatology) โดยทีมนักการสาธารณสุขนานาชาติ นำโดยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ได้เผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งถือเป็น “ภาวะทางสุขภาพ” ที่หนักหน่วง อันเกิดขึ้นจากการแพร่ขยายลุกลามของอาการดังกล่าวในหมู่ประชากรโลกที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
ดร.เจมี สไตน์เมตซ์ หัวหน้านักวิจัยด้านสุขภาพประชากร ประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ บอกว่าอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งที่นำไปสู่ความพิการ ตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
ผลการวิเคราะห์ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีต 500 ชิ้น ชี้ว่าหากองค์กรด้านสาธารณสุขทั่วโลกไม่มีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาด จะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งทะยานขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
การวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปี 1990- 2020 จาก 204 ประเทศและภูมิภาค เพื่อจัดทำแผนที่ภูมิทัศน์ของผู้มีอาการปวดหลังเมื่อเวลาผ่านไป บ่งชี้ว่าจำนวนคนปวดหลังระดับสากลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้คนมากกว่าครึ่งล้านประสบกับอาการดังกล่าวในปี 2017 และสูงราว 619 ล้านรายในปี 2020
ภาวะความพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ที่เชื่อมโยงกับอาการปวดหลัง มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านอาชีพ การสูบบุหรี่ และน้ำหนักเกินเกณฑ์
การสูบบุหรี่นั้นทำลายระบบไหลเวียนโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นเลือดฝอยที่เข้าไปเลี้ยงโครงสร้างส่วนย่อยของกระดูกสันหลัง อย่างเช่นข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลัง ทั้งยังทำให้เนื้อกระดูกอ่อนแอลง ส่วนความอ้วนนั้นทำให้กระดูกสันหลังต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้บาดเจ็บและเกิดการอักเสบทั่วร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุของโรคข้ออักเสบได้ง่าย
ความซับซ้อนทางกายภาพของกระดูกสันหลังมนุษย์ ทำให้การวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลังส่วนล่างในแต่ละคนเป็นไปได้ยาก เช่น แพทย์ไม่อาจจะบอกได้แน่ชัดว่า หมอนรองกระดูกหรือกล้ามเนื้อส่วนไหนกันแน่ที่มีปัญหา แม้จะได้ใช้เทคโนโลยีการสแกนหรือฉายภาพอวัยวะภายในที่ทันสมัยแล้วก็ตาม ทำให้หลายคนต้องทนทรมานกับอาการนี้ติดต่อกันนานหลายปี ทั้งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายได้ภายใน 6 สัปดาห์แรกของการรักษา
ผลการวิจัยยังพบว่า อาการปวดหลังส่วนล่างพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า ทั้งยังเกิดกับคนชราที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมากที่สุด จะพบจำนวนคนปวดหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2050 ขณะที่จำนวนคนปวดหลังจะเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุดในเอเชียและแอฟริกา
วงการแพทย์มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องคิดค้นและหาวิธีรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการให้ยาแก้ปวดหรือการผ่าตัดตามเทคนิควิธีในปัจจุบัน ซึ่งมักจะไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยมาก
อาการปวดหลังล่างจะยังคงเป็นต้นตอสำคัญที่สุดของภาวะความพิการทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก รวมถึงผลกระทบทางร่างกายและบุคคลซึ่งจะคุกคามการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะโดยตรง
ที่มา : ซินหัว , bbc