สคบ. จ่อคุมโฆษณา “เครื่องราง-ของขลัง” หลังโฆษณาเกินความเป็นจริง นำไปปั่นราคา ทำให้ประชาชนบางรายหลงเชื่อและซื้อจำนวนมาก

68

สคบ. จ่อคุมโฆษณา “เครื่องราง-ของขลัง” หลังโฆษณาเกินความเป็นจริง นำไปปั่นราคา ทำให้ประชาชนบางรายหลงเชื่อและซื้อจำนวนมาก

ตามที่เป็นข่าว สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับการอัญเชิญรูปหล่อขนาดใหญ่ของครูกายแก้ว ฤาษีที่มีตบะวิชาอาคมแก่กล้าในยุคโบราณ ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าเป็น “บรมครูผู้เรืองเวทย์” ไปไว้ที่หน้าโรงแรมเดอะบาซาร์ บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ และจัดทำเหรียญครูกายแก้วแจกฟรีจำนวนหนึ่ง ต่อมามีการนำเหรียญดังกล่าว
ไปโฆษณาขายและปั่นราคาไปหลายหมื่นบาท ทำให้ประชาชนบางรายหลงเชื่อและซื้อจำนวนมาก จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบหลายกรณี

สคบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการโฆษณาสินค้าประเภทเครื่องราง ของขลัง หรือบริการเกี่ยวกับสินค้าลักษณะเดียวกัน สำหรับเหรียญครูกายแก้วหากเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคต้องดำเนินการ

1. ต้องจัดทำฉลาก ให้ผู้บริโภคทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ใช้ข้อความตรงต่อความจริง
ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า และต้องระบุข้อความอันจำเป็น เช่น ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ราคาขาย

2. การโฆษณา ขณะนี้ สคบ. ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลังหรือบริการ
ที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. …. สาระสำคัญคือ มีการกำหนดคำนิยามเครื่องรางของขลังซึ่งการจัดทำเหรียญครูกายแก้ว อาจถือเป็นเครื่องราง หรือของขลังตามคำนิยาม รวมทั้งกำหนดให้การโฆษณาที่เชิญชวนให้ซื้อเครื่องราง ของขลัง หรือรับบริการ โดยอาศัยความเชื่อหรือศรัทธาส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผล หรือกระบวนการพิสูจน์ที่เป็นที่ยอมรับเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม ดังนี้

(1) ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าสามารถป้องกันหรือบรรเทาอันตราย หรือทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้

(2) ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้ได้มาซึ่งคนรักของรัก หรือทำให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลอื่นฝ่ายเดียวหรือทำให้เกิดผลดีแก่ตนเองฝ่ายเดียว หรือทำให้สามีหรือภรรยาหรือคนรักกลับมาคืนดีกัน

(3) ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้มีโชคลาภจากการพนัน หรือสามารถทำให้หลุดพ้น
จากความยากจนหรือทำให้เกิดความร่ำรวยหรือความโชคดี

ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้อยู่ระหว่างประกาศรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป กำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นี้ สคบ. จึงขอเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้ที่ www.ocpb.go.th

ในกรณีที่มีการโฆษณาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมมีความผิดทางอาญา คือ โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ