ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เตือนผู้เลี้ยงสุกร เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

1833

ปศุสัตว์เชียงใหม่เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งขณะนี้มีการระบาดในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ติดกับประเทศไทย

      นายพงศ์พัฒน์ ขัตพันธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ว่า เป็นโรคระบาดในสุกรที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุกร โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการกระจายอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งในทวีปแอฟริกา ยุโรปตะวันออก ประเทศในกลุ่ม Eurasia สหภาพโซเวียต และทวีปเอเชีย ซึ่งใน พ.ศ. 2464 มีการระบาดเกือบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ต่อมาพบการระบาดในทวีปยุโรป และแพร่กระจายไปยังประเทศในทวีปอเมริกากลางและใต้ และปีที่ผ่านมามีการระบาดเข้ามาในทวีปเอเชีย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังการเฝ้าระวังติดตามพบว่ามีการระบาดในอีก 5 ประเทศ คือ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ฮ่องกง เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนประเทศไทยยังไม่พบการระบาด แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสุกรได้เข้ามาถึงประเทศเมียนมาตอนบน ซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศไทยแล้ว

Z6Ix0N.png
จังหวัดเชียงใหม่จึงได้กำหนดแผนงาน/มาตรการ ควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังในการเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ พร้อมทั้งเสนอให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคระบาด อีกทั้งให้เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์จากจุดเสี่ยงสูง จากจังหวัดเชียงรายเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่ จุดตรวจกิ่วสไตล์ ถนนฝาง-แม่จัน เขตรอยต่อพื้นที่ถนนในหมู่บ้านระหว่างอำเภอพร้าวกับอำเภอเวียงป่าเป้า จุดตรวจบนถนนฝาง-แม่สรวย และจุดตรวจโป่งดิน (ทางเข้าเทพเสด็จ) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และการเฝ้าระวังเชิงรุก โดยทำการออกเก็บตัวอย่างในโรงฆ่าและจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ (เขียง) ในจังหวัดเชียงใหม่ 50 แห่งต่อสัปดาห์ เข้มงวดในการตรวจสัตว์ก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกครั้ง รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ออกวิเคราะห์ความเสี่ยงรายฟาร์มในพื้นที่ทุกฟาร์ม

     ทั้งนี้ ขอให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หรือโรงฆ่าสัตว์ เฝ้าระวัง การเลี้ยงในฟาร์มหากพบสุกรตายแบบเฉียบพลันมากกว่า ร้อยละ 5 ภายใน 2 วัน หรือรายย่อยที่เลี้ยงน้อยกว่า 50 ตัว มีการตาย 2 ตัวขึ้นไปภายใน 1 วัน หรือสุกรมีไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง จุดเลือดออก มีรอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหู ท้อง ขาหนีบ หรือผิวหนัง ไอ แท้ง ท้องเสียเป็นเลือด ขอให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 08-6431-4264 หรือสายด่วนแจ้งโรค 06-3225-6888 เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป

Z6IirE.jpg