กรมควบคุมโรค ห่วง “ฝีดาษลิง” อึ้งเจอเด็ก 16 ปีติดเชื้อ เดือน ส.ค. ติดเพิ่ม 145 ราย แนะงดมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือกับคนแปลกหน้า
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 316 ราย (เสียชีวิต 1 รายเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง) เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากถึง 271 ราย (ร้อยละ 85.8) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 143 ราย (ร้อยละ 45.3) มีสัญชาติไทย 277 ราย ชาวต่างชาติ 36 ราย ไม่ระบุ 3 ราย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (198 ราย) จังหวัดชลบุรี (22 ราย) นนทบุรี (17 ราย) และสมุทรปราการ (12 ราย) ผู้ป่วย ส่วนใหญ่อายุ 30-39 ปี จำนวน 152 ราย รองลงมาอายุ 20-29 ปี จำนวน 85 ราย กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี จำนวน 28 รายซึ่งกลุ่มเยาวชนมีความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ 4 เดือนย้อนหลังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วย 22 ราย, มิถุนายน 48 ราย, กรกฎาคม 80 ราย และเดือนสิงหาคมได้รับรายงานเพิ่มอีก 145 ราย เกือบทั้งหมดเป็นคนไทย และรับเชื้อภายในประเทศ ในจำนวนนี้มีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 รายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการรุนแรงและติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนยา Tecovirimat (ชื่อการค้า TPOXX) จากองค์การอนามัยโลกให้นำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxvirus เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการมากและแพทย์รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะแรกของการแพร่เชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทยกลุ่มเสี่ยงเป็นชายวัยทำงาน แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเริ่มพบเยาวชนติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่มมากถึง 16 ราย โดยมีรายงานจากทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและหน่วยงานในพื้นที่ สอบสวนผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร รายหนึ่งเป็นนักเรียนชาย อายุ 16 ปี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ด้วยอาการตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับอวัยวะเพศบวมอักเสบ ตรวจพบเชื้อฝีดาษวานร ประวัติเสี่ยง ผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน ดำเนินการติดตามอาการของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน จนครบ 21 วันนับตั้งแต่วันสัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้าย ยังไม่พบผู้ป่วยในครัวเรือน
ดังนั้น ขอย้ำเตือนเยาวชนเเละกลุ่มชายรักชายให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่สัมผัสใกล้ชิดเนื้อเเนบเนื้อ หรือกอดจูบกับผู้ที่ไม่รู้จัก เวลานี้สถานการณ์ผู้ป่วยในไทยเริ่มแพร่ระบาดจากกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น ไปสู่กลุ่มที่อายุน้อยลงได้แก่เยาวชนวัยเรียนเเล้ว ขอให้ตระหนักว่า เยาวชนต้องป้องกันตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค โดยสังเกตรอยโรค อาการเเสดง เเละสังเกตดูผิวหนังตามร่างกายของคู่นอน ว่ามีผื่นแบนหรือนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองเเละตกสะเก็ด มักพบตามอวัยวะเพศรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า ลำตัว ศีรษะ ก่อนหน้าจะเกิดอาการมักมีไข้ร่วมกับอาการอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
หากสงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่รับประทานดื่มน้ำด้วยภาชนะร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ช่วงป่วย การรักษาความสะอาดทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องนอนเครื่องใช้แยก ใช้สุขาแยก หรือ ทำความสะอาดด้วยการเช็ดน้ำยาทำลายเชื้อกลุ่มสารซักฟอก เช่น ไฮโปคลอไรต์ น้ำสบู่ เป็นต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422