สสจ.เชียงใหม่ ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออก สั่งหน่วยในสังกัดทุกอำเภอติดตามทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด

2278

สสจ.เชียงใหม่ ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออก เปิดศูนย์ EOC โรคไข้เลือดออก สั่งการทุกอำเภอควบคุมติดตามทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด แนะประชาชนหากมีอาการไข้สูงให้พบแพทย์ทันที

     นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 1,797 ราย เป็นคนไทย 1,607 ราย และชาวต่างชาติ 190 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ อำเภอฝาง จอมทอง พร้าว ฮอด และอำเภอเชียงดาว และขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย นอกจากนี้ยังพบการระบาดในหมู่บ้านที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้

     ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดศูนย์ EOC โรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จะประชุมทางไกลทุกสัปดาห์ กับสาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เพื่อควบคุม กำกับ และติดตามการควบคุมโรคในพื้นที่ รวมไปถึงจัดทีมลงควบคุม กำกับ และติดตามพื้นที่ 15 อำเภอที่ควบคุมโรคไม่ได้ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ควบคุมโรคไม่ได้ จะลงพื้นที่ควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และห้ามออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น จนกว่าจะควบคุมโรคได้ ถ้าจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่ ให้ทำหนังสือขออนุญาตสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นรายครั้ง พร้อมทั้ง เน้นการสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนัก และความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีทีมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ควบคุม กำกับ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ให้ทุกโรงพยาบาลเร่งทำแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยไข้เลือดออก ที่ตึกผู้ป่วยนอก หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะสามารถนำผู้ป่วยรักษาพยาบาล และส่งต่อได้อย่างทันท่วงที

     จึงขอแนะนำประชาชน หากพบเห็นผู้ป่วยมีไข้สูง 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ซึมลง มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ตับโต กดบริเวณชายโครงผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ หรือไข้ลดแล้วแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ห้ามซื้อยารับประทานเอง รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน จิตอาสา ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยให้แต่ละบ้านสำรวจจุดเสี่ยงแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่พบบ่อย เช่น ภาชนะที่ถูกทิ้ง จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า ไม่ให้มีน้ำขัง และโอ่งใส่น้ำที่ไม่มีฝาปิดด้วย

ข้อมูล : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่