มูลนิธิเอ็มพลัส ร่วมกับ สสส. เปิดตัวโครงการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (Stop Stig) ด้วยการแถลงรายงานสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี ประจำปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 รับมือความ ท้าทายจากสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิเอ็มพลัส ร่วมกับ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดตัวโครงการ “Stop Stig” ลดการ ตีตราและการเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นจังหวัดนำร่อง และเวทีเสวนาหัวข้อ “Stop Stig Talk เพราะเราเท่าเทียมกัน” โดยนายพงศ์ภีระ พัธภีระพงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส กล่าวถึงที่มาว่า “การทำงานด้านสุขภาพทางเพศ เอชไอวีเอดส์นั้น เป็นภารกิจหลักของมูลนิธิเอ็มพลัสที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชา สังคมในการขับเคลื่อนงานด้านเอชไอวี เอดส์ ให้เป็นศูนย์ภายใต้แนวคิด 3 ต. ได้แก่ ไม่ติด ไม่ตาย และไม่ตีตราภายในปี 2573 ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อยุติปัญหาเอดส์ จึงได้ริเริ่มโครงการ “Stop Stig” ในการ ขับเคลื่อนเพื่อลดการตีตรา เลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีโดยให้ “เรื่องเอชไอวีเอดส์เป็นเรื่องปกติ การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวให้เป็นเรื่องปกติ การเข้าถึงบริการป้องกันและรักษาเอชไอวี/เอดส์เป็นเรื่องปกติ”
ด้านนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานเปิดพิธีโครงการ “Stop Stig” จากคำกล่าวรายงาน “ความสำคัญและวัตถุประสงค์แคมเปญเปิดโครงการฯ โดย ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส ทำให้ทราบถึงความเป็นมาและเหตุผลสำคัญของโครงการ “ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีผู้ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี” ภายใต้โครงการสต๊อปสติ๊ก เพื่อยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยทำให้เท่าเทียม มุ่งสู่การยุติเอดส์ เริ่มต้นได้ที่พวกเราทุกคน โดยการไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อสร้างค่านิยมให้สังคมไทยใหม่ว่า เอดส์เป็นเรื่องปกติ การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ การเข้าถึงบริการป้องกันและรักษาเอชไอวี/เอดส์เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573ภายใต้แนวคิด 3 ต. ได้แก่ ไม่ติด ไม่ตาย และไม่ตีตรา”
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “สสส. สนับสนุนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศมาตั้งแต่ปี 2548โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม มุ่งสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเพิ่มการเข้าถึงบริการในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีก 1 จังหวัดต้นแบบ ที่ สสส. ให้ความสำคัญในการยุติเอดส์ตามแผนยุทธศาสาตร์แห่งชาติ โดย ร่วมกับมูลนิธิเอ็มพลัส และสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการ “Stop Stig” ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อลดปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีซึ่งมีอุปสรรคและความท้าทายที่สำคัญในการลดการติดเชื้อเอชไอวีในจังหวัดเชียงใหม่จนเป็นศูนย์”