22 พ.ย. 66 – นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลวันลอยกระทง ประเพณีสำคัญของไทย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน ขอให้ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเทศกาลลอยกระทง โดยขอให้ยึดหลัก “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือ 1. ไม่ดื่มสุรา 2. ไม่เก็บ คือ อย่าลงน้ำไปเก็บกระทงหรือเงินในกระทง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำและเสียชีวิตได้ 3. ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ส่วนเด็กอายุ 3 – 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงตัวได้โดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และระมัดระวังการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เทศกาลวันลอยกระทงเป็นวันที่ประชาชนจะเดินทางไปลอยกระทง ทำให้จำนวนรถบนถนนมีเพิ่มมากโดยเฉพาะช่วงเวลาเย็น ซึ่งข้อห่วงใยคือการฉลองส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ส่งผลให้การควบคุมตนเองและสมาธิในการขับขี่ลดน้อยลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและมีความรุนแรงสูง นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอให้ประชาชนผู้ใช้รถได้ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลอยกระทง ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน ศึกษาเส้นทางให้รอบคอบ และควรออกเดินทางก่อนเวลาเพื่อเลี่ยงจราจรติดขัด เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ขับเร็วเกินกำหนด ไม่ดื่มสุราหากต้องขับรถ ปฏิบัติตามกฎจราจร และผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย เพื่อให้ทุกคนได้เที่ยววันลอยกระทงอย่างสนุกและปลอดภัย
“รัฐบาลห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนที่ออกมาเที่ยวงานลอยกระทง โดยขอย้ำให้หน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ลอยกระทง มีความเข้มข้นในมาตรการรักษาความปลอดภัย กำหนดพื้นที่/บริเวณสำหรับลอยกระทงให้ชัดเจน โดยเว้นระยะห่าง จัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ต้องทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกลงไปในน้ำ เตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ ๆ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้ จัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอ จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่องและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนที่เสี่ยงต่ออันตรายใด ๆ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ลงน้ำไปเก็บเหรียญในกระทงเพราะน้ำเย็นอาจทำให้เป็นตะคริวเสี่ยงจมน้ำได้ รวมทั้งผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อพาเด็กไปลอยกระทงไม่ปล่อยเด็กให้คลาดสายตา เพราะเพียงแค่ชั่วพริบตาเด็กก็อาจตกน้ำได้ ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงอย่างสนุกสนานรื่นเริงและปลอดภัย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ในปี 2563 – 2565 พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15 – 29 ปี ร้อยละ 32.1 รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1 – 14 ปี ร้อยละ 25.9 โดยอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ ข้อมือและมือ ร้อยละ 36.6 รองลงมา คือ ศีรษะ ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะ ร้อยละ 42.1 และได้รับบาดเจ็บที่ตา ร้อยละ 26.3 โดยกรมควบคุมโรค มีคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1. ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว 2. สอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 3. ไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ 4. หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่าง ๆ ควรอ่านคำแนะนำอย่างละเอียดและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422