29 พ.ย. 66 – สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์พบว่าคดีหลอกขายของออนไลน์ เป็นคดีที่สร้างความเสียหายให้แก่พี่น้องประชาชนมากที่สุด จึงมีประชาชนหลายรายที่ตกเป็นเหยื่อ ได้โพสต์เตือนภัยกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมข้อมูลจากส่วนนี้ มาทำการสืบสวน เพื่อดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายค้นและหมายจับผู้เกี่ยวข้อง
ต่อมา วันที่ 28 พ.ย.66 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2, พ.ต.อ.จักรกฤช ศรีโรจนากูร ผกก.2 บก.สอท.2 ร่วมกับ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3 ร่วมนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร นำหมายค้นเข้าตรวจสอบโกดังสินค้าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
เมื่อเข้าตรวจค้น พบว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นโกดังสินค้าให้เช่าขนาดใหญ่ มีกล่องพัสดุจำนวนมาก และมีบุคคลต่างด้าวกว่า 20 รายกำลังนั่งแพ็กสินค้า กันอยู่ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงหมายค้นเข้าตรวจสอบ พบนางอารียา อายุ 64 ปี และ นายหยุน เฉิน (ชาวจีน) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จึงได้ควบคุมตัวไว้ พร้อมทั้งบุคคลต่างด้าวกว่า 20 คน และตรวจยึดของกลางเป็นกล่องพัสดุและสินค้าอีกจำนวนกว่า 3 หมื่นชิ้น
โดยการจับกุมผู้ต้องหาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 ผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่ดูแลโกดัง จำนวน 2 ราย
ส่วนที่ 2 คนงานที่ทำงานอยู่ภายในโกดังประมาณกว่า 20 คน ตรวจสอบพบว่าไม่มีพาสปอร์ต 18 คน จึงแจ้งข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
ส่วนที่ 3 บุคคลตามหมายจับ โดยเจ้าหน้าที่จะขยายผลเพื่อหาข้อมูลของขบวนการเพิ่มเติมต่อไป
จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าประเภทคดีที่สร้างความเสียหายให้แก่พี่น้องประชาชนมากที่สุดคือ หลอกขายของออนไลน์ โดยสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ต.ค. มีการแจ้งความ 3.5 แสนราย เป็นเรื่องของการหลอกซื้อสินค้า 1.4 แสนราย จึงได้สั่งการให้ดำเนินการสืบสวน กระทั่งพบว่ามีขบวนการหลอกเก็บเงินปลายทาง จึงสืบสวนต่อจนทราบว่าพัสดุถูกส่งมาจากโกดังที่เข้าตรวจค้นในครั้งนี้ และนำมาสู่การจับกุมผู้ร่วมกระทำผิด
โดยแนวทางการการสืบสวนพบว่าขบวนการนี้มี นายถูเซงเปียว สัญชาติจีน อายุ 44 ปี เป็นผู้เช่าและใช้โกดังเป็นสถานที่แพ็กสินค้า โดยใช้วิธีนำสินค้ามาครั้งละประมาณ 3 หมื่นชิ้น เพื่อให้คนงานแพ็กและติดฉลาก ก่อนขนย้ายเพื่อกระจายส่งให้เหยื่อต่อไป
โดยเฉลี่ยแล้วในการส่งแต่ละครั้ง สินค้าที่ส่งไปมีมูลค่าไม่ถึง 10 บาท แต่คิดราคาเก็บเงินปลายทางในราคากล่องละประมาณ 300-400 บาท ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการตีคืนพัสดุประมาณ 2.5 หมื่นกล่อง ส่งสำเร็จประมาณ 5 พันกล่อง คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ทำรายได้จากเหยื่อประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท ซึ่งพบว่าขบวนการนี้ทำมาแล้วกว่า 1 ปี สร้างความเสียหายรวมปีละกว่า 10 ล้านบาท โดยก่อนหน้ากลุ่มผู้ต้องหาใช้โกดังย่านบางกระดี่ ก่อนที่จะย้ายที่ตั้งมาที่โกดังแห่งนี้ในภายหลัง
จากข้อมูลพบว่าขบวนการนี้สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนจำนวนมาก บางส่วนเข้าใจว่าตนเองไม่ได้สั่งสินค้าอะไรเลย แต่กลับมีสินค้ามาส่งที่บ้าน ซึ่งทำให้มีประชาชนบางกลุ่ม ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ ที่ไม่ทันระวังจึงตกเป็นเหยื่อ
สินค้าจีน
โดยวิธีการป้องกันมิจฉาชีพเหล่านี้คือ หากเรามั่นใจว่าไม่ได้สั่งสินค้าอะไรแล้วสินค้าดังกล่าวไม่ได้ระบุต้นทางก็ควรตีกลับ หรือหากสินค้าดังกล่าวระบุต้นทาง ควรโทรสอบถามจากเบอร์โทรหน้ากล่องก่อน ถือว่าเป็นวิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด
ที่มา : ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.