ชื่นชม ทีมแพทย์ 2 โรงพยาบาล จ.แม่ฮ่องสอน นัดพบกันครึ่งทางช่วยเด็ก ถูกไซยาไนด์โคม่า จนปลอดภัย

3847

9 ม.ค. 67 – เฟซบุ๊กแฟนเพจ Ramathibodi Poison Center ได้แชร์เรื่องราวสุดประทับใจ ของทีมแพทย์ 2 โรงพยาบาล ที่ช่วยเด็กจนรอดชีวิต โดยว่า

“โพสต์นี้แอดขอเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ชื่นชมและขอบคุณ ทีม รพ.ขุนยวม และ รพ. ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ช่วยเหลือประสานงานการส่งตัวผู้ป่วยเด็กที่หมดสติ และมีเลือดเป็นกรดรุนแรง จากพิษไซยาไนด์จากน้ำยาล้างเครื่องเงิน

ไซยาไนด์ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับยาต้านพิษทันเวลา การได้รับยาต้านพิษทันเวลาสำคัญต่อการกู้ชีวิตเด็กคนนี้มากๆ เรียกว่าทุกวินาทีมีค่า ด้วยว่าเป็นภาวะที่เกิดไม่บ่อย (ตลอดชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์บางท่าน อาจยังไม่เคยเจอเลยด้วยซ้ำ) ยาต้านพิษนี้จึงจะไม่ได้มีในทุก รพ. แต่มีระบบการเก็บไว้ในโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มีการส่งหรือยืมเพื่อช่วยผู้ป่วยตามระบบของโครงการยาต้านพิษ

การที่ทีมทั้งสอง รพ. ตัดสินใจให้ ทาง รพ.ขุนยวม มีแพทย์ และพยาบาลอีกสองท่านออกรถไปกับเด็ก ขณะเดียวกันทาง รพ.ศรีสังวาลย์ก็ออกรถนำยาต้านพิษ (sodium nitrite และ sodium thiosulfate) มาพบกันครึ่งทาง และให้ยาต้านพิษบนรถพยาบาลกลางทาง แล้วรับตัวน้องเด็กไปดูแลต่อที่ไอซียู ทำให้ประหยัดเวลาและรักษาชีวิตคนไข้ได้อย่างทันท่วงที แม้เส้นทางจะคดเคี้ยวหรือทำเวลาได้ยาก แต่ด้วยการประสานพบกันกลางทางนี้ก็ทันเวลาที่จะช่วยคนไข้ให้ฟื้นตัวและตื่นรู้ตัวเป็นปกติได้ในเวลาต่อมา

ขอบคุณที่ให้ทีมศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนไข้ในครั้งนี้ ขอบคุณที่ให้พวกเราได้เห็นตัวอย่างการประสานงานอย่างยอดเยี่ยมระหว่างหน่วยงาน ขอชื่นชมทีมทั้งสองโรงพยาบาล พวกคุณสุดยอดมากครับ”

นอกจากนี้ทางด้านเฟซบุ๊ก ธีระดา วงค์ใจ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเคสดังกล่าว ระบุว่า

เด็กน้อยอายุ 5 ปี มาด้วยอาการไม่รู้สึกตัว แน่นิ่งไม่ตอบสนองใดๆ แม่ให้ประวัติดื่มน้ำยาแช่เครื่องเงินประมาณ 1 อึ๊ก ซึ่งน้ำยาเป็นสารไซยาไนด์ รพ.ที่ไปรักษาเป็นรพ.ชุมชน ซึ่งไม่เคยเจอเคสแบบนี้มาก่อน อย่าว่าแต่รพ.ชุมชนเลย เราที่อยู่รพ.จังหวัด ทำงานมานานก็ยังไม่เคยเจอเคสแบบนี้เลย หมอจึงรีบโทรไปหาศูนย์พิษรามาทันที เพื่อปรึกษาเรื่องการรักษาพิษจากไซยาไนด์

อาจารย์แพทย์ที่ศูนย์พิษรามา ได้มีคำสั่งการรักษาผู้ป่วย ด้วยยาหลายตัว ยาบางตัวมีให้ได้เลย แต่ยาที่เป็นพระเอกใช้แก้พิษไซยาไนด์ ไม่มีในรพ.ขนาดเล็กๆแบบนี้ ต้องพาเด็กไปรักษาที่รพ.จังหวัด ห่างออกไป 60 กม. ทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดขับเร็วไม่ได้ ทำเวลาไม่ได้ เอาล่ะสิ. ยุ่งแล้ว

หมอปุ้ยโทรปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และกุมารแพทย์เพื่อจะมารักษาต่อที่นี่ และกระโดดขึ้นรถรีเฟอร์มพร้อมพยาบาลอีก 2 คน เพื่อดูแลเด็กระหว่างทาง หมอกรีคำนวณเวลาแล้ว กว่าเด็กจะมาถึง ไซยาไนด์คงทำพิษต่อร่างกายเสียหายไปมาก และเด็กอาจจะเสียชีวิตระหว่างทาง หมอกรีจึงมีคำสั่งให้เอายาแก้พิษไซยาไนด์ 2 ตัว ให้พนักงานขับรถ นำยาไปส่งให้ทีมหมอปุ้ยที่กำลังเดินทางมา เพื่อที่จะได้รีบให้ยาแก้พิษทันที

หมอปุ้ยและทีมรีเฟอร์รพ.ขุนยวม เมื่อได้รับยาจากพชร. แล้วก็ให้ยาแก้พิษ จากนั้นเด็กเริ่มตื่น ดิ้น. จากที่นอนแน่นิ่งไม่ตอบสนองใดๆ หมอฉุกเฉิน Kreetha Kamniam หมอแพรซึ่งเป็นหมอเด็ก มารอเตรียมรับผู้ป่วยที่ ER

พอมาถึงที่นี่ ให้ยาแก้พิษซ้ำไปอีก เจาะเลือด ติดตามพิษในเลือด ติดตามสัญญาณชีพ ส่งเด็กนอนรักษาต่อที่ ICU. ลุ้นให้เด็กน้อยรอด เช้านี้ติดตามอาการ เด็กน้อย ตื่นดี ถอดท่อช่วยหายใจแล้ว E4V5M6

การรักษาเด็กน้อยครั้งนี้ เปรียบเสมือนการวิ่งแข่งกับสารพิษไซยาไนด์ ที่เข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย โดยเราปล่อยยาแก้พิษ (sodium nitrite และ sodium Thiosulfate) เข้าสู่กระแสเลือดให้วิ่งเข้าไปจับไซยาไนด์ล๊อคไซยาไนด์ไว้ให้สิ้นพิษ เฮ้อ..แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

สรุป.. พวกเราชนะว๊อยย….. เย้!! คำเตือน ใครมีลูกเล็ก ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ไซยาไนด์มีพิษร้ายแรงมาก สามารถฆ่าคนในเวลาไม่กี่นาที คำเตือนอีกข้อ หากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น กดหัวใจได้ แต่อย่าจุ๊ฟปากผายปอด เพราะอาจจะได้รับไซยาไนต์ด้วย ตายอ๊องไปด้วยกัลลเรย คำเตือนสุดท้าย ยังไม่เชยนะ อย่าประมาทไปทานข้าวกับคนแปลกหน้า นะคะ

ที่มา : Ramathibodi Poison Center / เฟซบุ๊ก ธีระดา วงค์ใจ