31 ม.ค. 67 – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด “เป็นวาระแห่งชาติ” โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ในฐานะภาคีเครือข่ายของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย ทั้งการป้องกัน ปราบปราม รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อนำตัวเข้ารับการบำบัดให้กลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคมและครอบครัว รวมไปถึงการดูแลเด็กและเยาวชนให้ตระหนักถึงโทษของยาเสพติด เปิดแผนปฏิบัติการทำสงครามยาเสพติด Kick Off 1 ก.พ. นี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหายาเสพติด” ในระยะเร่งด่วน 3 เดือน ระหว่าง ก.พ. – เม.ย. 2567 โดยจะ “Kick Off” เปิดปฏิบัติการตัดวงจรยาเสพติดอย่างเข้มข้นและเด็ดขาดทั้งแผ่นดิน พร้อมกันทั่วประเทศ เริ่มต้นการประกาศทำสงครามยาเสพติด ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ดังนี้ ส่วนกลาง
– กิจกรรม D-Day แถลงนโยบาย ประกาศเจตนารมณ์
– ลงนาม MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย
– กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น เดินขบวนรณรงค์ เผาทำลายของกลาง กรุงเทพมหานครและภูมิภาค
– จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงพลังต่อต้านยาเสพติด เช่น การปฏิญาณตน การเดินขบวนรณรงค์ การจัดนิทรรศการ ปล่อยแถวระดมกวาดล้างยาเสพติด ภายใต้ 5 มาตรการ ได้แก่
1) มาตรการป้องกัน
2) มาตรการปราบปราม
3) มาตรการบำบัดรักษา
4) มาตรการฟื้นฟูสภาพทางสังคม
5) มาตรการประชาสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วม ป.ป.ส. เผยมาตรการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดฟื้นฟู สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมุ่งเน้น 3 พื้นที่ คือ
1) พื้นที่ผู้ติดยาเสพติด 2) พื้นที่การค้ายาเสพติด 3) พื้นที่ลักลอบนำเข้ายาเสพติด
ประกาศ 3 แนวทางทำทันที เเก้ปัญหายาเสพติด กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการบูรณาการงานและสนธิกำลังภาคีเครือข่ายดำเนินการ 3 แนวทางที่ต้องทำทันที (Action Now) ได้แก่
1. แสวงหาผู้ป่วยยาเสพติดทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านการบำบัดฟื้นฟูแล้วกลับไปเสพใหม่ ต้องนำเข้าสู่ระบบทันที และต้องเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ แพทย์ ครู ร่วมบำบัดรักษาในศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยสามารถขอความเมตตาจากคณะสงฆ์ ใช้วัดเป็นสถานที่บำบัด ซึ่งสอดคล้องตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับคณะสงฆ์
2. คณะทำงานลงพื้นที่ตรวจติดตามและให้กำลังใจ ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
3. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยการบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมทุกการประชุม ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการสร้างการตื่นรู้ และเห็นถึงการช่วยกันทำให้สังคมไทยปลอดจากยาเสพติด
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์