1 ก.พ. 67 – พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยปัจจุบันได้มีพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภาระหนี้สิน เนื่องมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือต้องรีบหาเงินมาชำระให้กับเจ้าหนี้ ได้นำรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระกับสถาบันทางการเงิน หรือที่เรียกว่า “รถติดไฟแนนซ์” ไปจำนำไว้กับผู้ที่ประกาศรับจำนำรถ ทั้งที่ยังมีภาระหนี้สินกับไฟแนนซ์อยู่
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนว่า รถที่ติดไฟแนนซ์หรืออยู่ระหว่างผ่อนชำระกับสถาบันทางการเงิน ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของรถตัวจริงของรถคันดังกล่าว คือสถาบันทางการเงิน ส่วนผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้ครอบครองเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์
ดังนั้น การที่ผู้เช่าซื้อนำรถติดไฟแนนซ์ไปจำนำ แล้วผู้เช่าซื้อไม่ผ่อนชำระหรือไม่นำเงินมาปิดยอดไฟแนนซ์ที่เหลืออยู่ จะเข้าข่ายเป็นการ “ครอบครอบทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต” ซึ่งเป็นความผิดฐาน “ยักยอก” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้รับจำนำหรือผู้รับซื้อรถคันดังกล่าว หากรู้หรือควรจะรู้ได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถติดไฟแนนซ์ การรับจำนำหรือรับซื้อรถคันดังกล่าวไว้ อาจเข้าข่ายเป็นการ “ซื้อ หรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานยักยอก” ซึ่งเป็นความผิดฐาน “รับของโจร” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการสังเกตว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด ให้ตรวจสอบจาก “ใบคู่มือจดทะเบียน” ซึ่งจะระบุ รายละเอียดทะเบียนรถ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองรถ ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นชื่อของสถาบันทางการเงิน ให้ระมัดระวังในการรับจำนำ หรือรับซื้อรถคันดังกล่าว เพราะอาจตกเป็นผู้กระทำความผิดฐาน “รับของโจร” ได้