“ชลน่าน” แจงดรามาครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ยันหากมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าค้า แม้เพียง 1 เม็ด ก็ถือเป็นผู้ค้าต้องถูกดำเนินคดี

72

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 67 – ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดาโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แถลงข่าวมาตรการรองรับหลังการประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกระแสความเข้าใจผิดที่ปรากฏทางสื่อโซเชียล มีเดีย เกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่าการเสพยาเสพติดต่อไปนี้ไม่ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ว่า การเสพยาเสพติดให้โทษ โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีน หากไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด คือ 5 เม็ด และไม่มีพฤติการณ์แวดล้อมที่ระบุว่าเป็นผู้ค้า ให้ถือเป็นผู้เสพต้องเข้ารับการบำบัด แต่ถ้ามีพฤติการณ์หรือสภาพแวดล้อมเชื่อมโยงได้ว่าเป็นผู้ค้า แม้เพียง 1 เม็ดก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งการออกกฎกระทรวงครั้งนี้ เป็นมติเอกฉันท์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประเภทยาบ้า โดยผู้ที่มียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องนำไปบำบัดรักษาให้หาย แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความสมัครใจของผู้นั้น ถ้าไม่สมัครใจรับการบำบัด ก็จะถูกดำเนินคดีข้อหา “ครอบครองเพื่อเสพ” ตาม มาตรา 164 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นการครอบครองเพื่อขาย ไม่ว่าจะกี่เม็ด ต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายฐานเป็นผู้ค้า

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการป.ป.ส. กล่าวว่า ป.ป.ส มีหน้าที่บูรณาการทั้งการบำบัด ฟื้นฟู สนับสนุน การบังคับใช้กฎหมาย และกำหนดนโยบาย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด มติที่มีความเห็นร่วมกันเรื่องปริมาณการเสพและการครอบครองที่ออกมาแล้วนั้น ถือเป็นเอกฉันท์ โดยขณะนี้มีตัวเลขผู้เสพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสังคมถึง 32,000 คน นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ นำผู้เสพ 32,000 คนนี้ เข้ามาสู่การบำบัดให้ได้ ทั้งนี้ การครอบครองยาเสพติดไม่ว่าจำนวนกี่เม็ด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิจารณาจากพฤติกรรมและรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ด้วย การมี 1-2 เม็ดแล้วจะอ้างว่ามีไว้เพื่อเสพ แต่เจ้าหน้าที่สืบสวนพบมีพฤติการณ์เป็นผู้ขายก็ต้องได้รับโทษ

ด้าน พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ ปปส. ดำเนินการป้องปรามและบังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด จากข้อมูลในปีงบประมาณ 2564 ถึงล่าสุดมกราคม 2567 มีการจับกุมทุกข้อหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งสิ้น 827,552 คดี สำหรับกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวออกตามความในมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งกำหนดให้ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ตามที่กำหนดไว้ ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งจะช่วยให้การจำแนกความผิดข้อหา “ครอบครองเพื่อเสพ” และข้อหา “ครอบครอง” มีความชัดเจนมากขึ้น