ตำรวจสอบสวนกลาง ลุยค้น 4 จุด ทลายเว็บหนังเถื่อน เปิดมานานกว่า 20 ปี มูลค่าเสียหายกว่าพันล้านบาท

1049

16 ก.พ. 67 – ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกันตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 4 จุด ยึดของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด เกี่ยวอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์

ตรวจยึดของกลาง
1.สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 9 เล่ม
2.บัตร atm จำนวน 2 ใบ
3.ฮาร์ดดิสก์ จำนวน 29 ตัว
4.คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก จำนวน 3 เครื่อง
5.แท็บเล็ต จำนวน 1 เครื่อง
6.โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง
7.เมมโมรี่การ์ดและแฟลชไดร์ฟ จำนวน 33 อัน
รวมของกลาง จำนวน 79 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

5.3.jpeg

สถานที่ตรวจยึด
1.บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
2.บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ
3.บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
4.บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สืบเนื่องจาก ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเอกชน ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ จากหลายบริษัทเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ภาพยนตร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนสืบทราบว่าสถานที่ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงนำหมายค้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าทำการตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 4 จุด

5.4d3d498a75a466609.jpeg

จากการสืบสวน พบว่า พฤติการณ์ของเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้ร่วมขบวนการจำนวนหลายคน แบ่งหน้าที่ในส่วนต่างๆ ชัดเจน โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยครั้งแรกใช้ชื่อว่า siambit.com ซึ่งเป็นชื่อเว็บไซต์และมีโดเมนเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เพิ่งเข้าตรวจค้นและจับกุมไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา แต่ในขณะนั้นเป็นการจับกุมตามความผิดฐาน “เผยแพร่สื่อลามกอนาจารและแฝงการโฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์” ทั้งนี้เว็บไซต์ดังกล่าวนั้นมีการกระทำความผิดในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการลักลอบเผยแพร่ภาพยนตร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทฯ

เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. จึงได้สืบสวนขยายผลจากกรณีดังกล่าว ซึ่งทำให้พบว่า ช่วงแรกจะเปิดให้ชมฟรี ต่อมาเริ่มเก็บค่าบริการสมาชิกจากประชาชนทั่วไป มีการเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์เพื่อปกปิดและหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เรื่อยมา ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่าแสนราย เผยแพร่ภาพยนตร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกว่า 50,000 เรื่อง ซึ่งบริษัทผู้เสียหายคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียรายได้ จากการจำหน่ายตั๋วในโรงภาพยนตร์ และรายได้จากการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หรือการสตรีมมิ่งแบบถูกกฎหมาย เบื้องต้นเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท จากการสืบสวนพบว่ารายได้หรือผลประโยชน์ที่เรียกเก็บจากค่าสมาชิกมีเงินหมุนเวียนกว่า 60 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมเตรียมดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าวต่อไป